คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042-9043/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้เช็คเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ได้ เช็คถือเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 898 การที่จำเลยนำเช็คธนาคาร ก. ของโจทก์ร่วมมาแก้ไขและเติมข้อความในช่องสั่งจ่ายบ้าง ช่องจำนวนเงินบ้างหรือปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมในช่องสั่งจ่าย แล้วนำเช็คไปขอเบิกเงินจากธนาคาร ก. ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการแก้ไขเติมข้อความและลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่โจทก์ร่วมทำขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคาร ก. การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน จำเลยหาจำต้องปลอมเช็คขึ้นทั้งฉบับ จึงจะเป็นความผิดฐานปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมตั๋วเงินและนำไปใช้เอง จึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย คือลงโทษในบทมาตราที่เบากว่า ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด
เมื่อศาลฎีกาได้ยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยแล้ว แม้จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงรวมทั้งดุลพินิจในการกำหนดโทษได้ตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 266, 268, 335 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินรวมสองสำนวนเป็นเงิน 613,890 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อกันทั้งสองสำนวนและนับต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 730/2544 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาบริษัทโปรอิมเมจ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266 (4), 268 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4)), 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูกความผิดฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) มาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว และความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมกับลักทรัพย์รวม 6 ครั้ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 24 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 12 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 613,890 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูกข้อหาอื่นให้ยก) ส่วนคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายมีว่า การปลอมเช็คของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและปลอมตั๋วเงินต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 266 (4) หรือไม่ เห็นว่า แม้เช็คเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 265 ดังที่จำเลยฎีกาได้และเช็คถือเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898 ที่บัญญัติว่า “อันตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่งคือตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือ เช็ค” ดังนั้น การที่จำเลยนำเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 67 ของโจทก์ร่วมมาแก้ไขและเติมข้อความในช่องสั่งจ่ายบ้าง ช่องจำนวนเงินบ้าง หรือปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมในช่องสั่งจ่าย แล้วนำเช็คไปขอเบิกเงินจากธนาคารดังกล่าว ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการแก้ไขเติมข้อความและลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่โจทก์ร่วมทำขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน จำเลยหาจำต้องปลอมเช็คขึ้นทั้งฉบับจึงจะเป็นความผิดฐานปลอมตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมตั๋วเงินและนำไปใช้เองจึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยคือลงโทษในบทมาตราที่เบากว่าไม่ว่าทางใดทางหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก ดังจำเลยอ้างย่อมไม่ได้เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น และเมื่อได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้ว แม้จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและจำเลยต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงรวมทั้งดุลพินิจในการกำหนดโทษได้ตามที่เห็นสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งเป็นจำคุกกระทงละ 4 ปี นั้น นับว่าหนักเกินไป เนื่องจากจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมบางส่วนจนโจทก์ร่วมพอใจไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปแล้ว จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง แม้จำเลยมีภาระต้องดูแลมารดาที่แก่ชราและบุตรชายอายุ 10 ปี ซึ่งมีอาการบกพร่องทางสติปัญญา ก็ยังไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 6 กระทง จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share