คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายพงษ์พันธ์ ผู้เสียหายที่ 1 นางนวลตาหรือกมล ผู้เสียหายที่ 2 และนางรพาภรณ์ ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนายพงษ์พันธ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นางนวลตาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และนางรพาภรณ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 3 ตามลำดับ และโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยคืนที่ดินจำนวน 10 ไร่ ที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำเงินที่ได้รับจากการรับมรดกสิทธินางกองมี ไปซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน 480,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ให้จำเลยกับพวกไปแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทำคำร้องขอมอบสิทธิทำกินในที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 83 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ในส่วนคดีแพ่ง ให้จำเลยคืนที่ดินจำนวน 10 ไร่ ที่จำเลยกับพวกได้จากการรับมรดกสิทธินางกองมี หากคืนไม่ได้ให้ใช้เป็นเงินแทนจำนวน 480,000 บาท และเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ร่วมทั้งสามเพื่อนำไปแบ่งระหว่างทายาทนางกองมีต่อไป ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อปี 2511 มีการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร ทำให้น้ำท่วมที่ดินของนางกองมี มารดาของโจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลย ต่อมาปี 2540 นางกองมีถึงแก่ความตาย วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร โดยนางกองมีมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ แต่ต้องไปจัดซื้อที่ดินเอง เมื่อซื้อที่ดินแล้วจึงจะมาเบิกเงินจากทางราชการในวงเงินไม่เกิน 480,000 บาท วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 แล้วนำคำขอดังกล่าวพร้อมคำขอรับมรดกสิทธิ ไปยื่นต่อว่าที่ร้อยตรีณัฐวัฒน์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดหาที่ดินทำกินโครงการสิรินธร เพื่อขอให้จ่ายค่าชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพวกของจำเลยนำเงินค่าชดเชยส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 10 ไร่ และรับเงินค่าชดเชยส่วนที่เหลือ 160,000 บาทไป คดีในส่วนอาญายุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคดีในส่วนแพ่งที่โจทก์ร่วมทั้งสามขอให้จำเลยกับพวกไปแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพร้อมทำคำร้องขอมอบสิทธิทำกินในที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมทั้งสามว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้จำเลยโอนที่ดิน 10 ไร่ หรือเรียกเงิน 480,000 บาท กับเรียกค่าเสียหายที่มิได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน 10 ไร่ ที่จำเลยกับพวกได้รับมาจากการจัดสรรที่ดินทำกินตามสิทธิของนางกองมีชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” แม้ขณะที่นางกองมีถึงแก่ความตายเมื่อปี พ.ศ.2540 นางกองมียังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่นางกองมีมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของนางกองมีผู้ตายก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของนางกองมีจึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของนางกองมีเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของนางกองมี ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนางกองมีจึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 200 ตารางวา แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 240,000 บาท คืนเงินจำนวน 120,000 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม และชดใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share