แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นกรณีหนึ่งกรณีใดให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงนำหลักการอุทธรณ์กรณีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไม่ได้
ตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์โดยสารแต่ละคันเติมด้วยยอดจำนวนเต็มหรือตามที่กำหนดในแต่ละสาย เมื่อครบจำนวนตามกำหนดพนักงานเติมน้ำมันจะดึงหัวจ่ายออกแล้วเก็บไว้ในที่เก็บและปิดฝาถังน้ำมันรถยนต์โดยสาร แสดงให้เห็นว่าน้ำมันที่ยังค้างอยู่ในหัวจ่ายเป็นน้ำมันของจำเลย แม้จะมีการตัดยอดจ่ายน้ำมันแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีระเบียบให้ทิ้งน้ำมันดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเติมน้ำมันเทน้ำมันที่ค้างอยู่ที่หัวจ่ายใส่ถังน้ำมันและเอาไว้เป็นส่วนตัวจึงเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอาญาและจงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติงาน เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 จำเลยมีอำนาจไล่โจทก์ออกได้ตามข้อบังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 1 ที่ 286/2549 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ของจำเลย และคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม ในอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,680 บาท โดยนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องไปนับตั้งแต่วันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเดือนงวดเดือนสิงหาคม 2549 ถึงงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2550 รวมเป็นเงิน 142,320 บาท และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงจำนวน 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 842,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ต่อไปเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 20,680 บาท นับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นไปทุกเดือน จนกว่าโจทก์จะได้กลับเข้าทำงานกับจำเลยหรือจนกว่าโจทก์จะครบอายุ 60 ปี (ครบเกษียณอายุเดือนกันยายน 2552) ถ้าหากโจทก์ไม่สามารถที่จะกลับเข้าทำงานกับจำเลยได้ไม่ว่าเพราะเหตุใด ให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น ให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จจำนวน 603,096 บาท ค่าชดเชยจำนวน 194,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 19,460 บาท เงินตอบแทนความชอบในการทำงานจำนวน 165,440 บาท รวมเป็นเงิน 982,596 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่าการที่ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างได้ทำความเห็นแย้งทำให้คดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ในคดีแรงงานการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งในมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกา โดยมิได้มีบทบัญญัติยกเว้นกรณีหนึ่งกรณีใดให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ และเมื่อบทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำหลักการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์มาใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้ ดังนั้นแม้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจะมีผู้พิพากษาสมทบทำความเห็นแย้งไว้ คู่ความก็ไม่อาจอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่าการกระทำของโจทก์เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับถึงขั้นถูกลงโทษไล่ออกหรือไม่ เห็นว่า ตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงระบุให้การเติมน้ำมันรถยนต์โดยสารแต่ละคันจะเติมด้วยยอดจำนวนเต็มหรือตามที่กำหนดในแต่ละสาย เมื่อครบจำนวนตามกำหนดพนักงานเติมน้ำมันจะดึงหัวจ่ายออกแล้วเก็บไว้ในที่เก็บแล้วปิดฝาถังน้ำมันรถยนต์โดยสาร จากระเบียบวิธีปฏิบัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าน้ำมันที่ยังค้างอยู่ที่หัวจ่ายย่อมเป็นน้ำมันของจำเลย ซึ่งแม้จะมีการตัดยอดจ่ายน้ำมันแล้วแต่จำเลยก็ไม่มีระเบียบให้ทิ้งน้ำมันดังกล่าว การที่โจทก์เทน้ำมันที่ค้างอยู่ที่หัวจ่ายใส่ถังน้ำมันและเอาไว้เป็นส่วนตัวจึงเป็นการลักทรัพย์ของนายจ้างซึ่งเป็นความผิดอาญา และจงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง อันถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัย การสอบสวน การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ.2524 ข้อ 8.1 และข้อ 8.2 ซึ่งจำเลยมีอำนาจลงโทษไล่โจทก์ออกได้ คำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานจึงชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน