แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548
โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 (วันทำสัญญาค้ำประกัน) ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,012,219.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 999,723 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัด ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,012,219.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 999,723 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 8 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลแรงงานภาค 2 ไต่สวนแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจริงจึงอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการคลังและเสมียนร่วมกันยักยอกสินค้าของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 รวมเป็นเงิน 999,723 บาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยที่ 3 เข้าเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 แต่จำนวนหนี้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 นั้น ก็ระคนปนกันอยู่ในจำนวนของหนี้ทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายไปเท่าใด จึงไม่อาจคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน