คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13159/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของนักแสดงในประเทศไทยเพิ่งจะได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก โดยบัญญัติอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ต่อจากหมวด 1 ว่าด้วยลิขสิทธิ์ แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นักแสดงซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 44 และ 45 มีความหมายตามบทนิยามในมาตรา 4 ว่า “ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด” โดยมาตรา 44 และตามบทนิยามมาตรา 4 มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครองในฐานะสิทธินักแสดงควรเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อความจากบทนิยามในมาตรา 4 จะเห็นได้ว่าสิทธิของนักแสดงเป็นการที่นักแสดงได้นำงาน “ดนตรีกรรม” หรืองาน “นาฏกรรม” อันได้แก่ การเล่นดนตรี การร้อง หรือการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์มาแสดงให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรือนำคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาแสดงให้บุคคลอื่นชื่นชม โดยที่นักแสดงนั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์งานหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซึ่งการนำเสนองานดังกล่าวนักแสดงได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะให้เกิดมีคุณค่าอันควรได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องจากผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ทำนองเป็นสิทธิข้างเคียงกับลิขสิทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ของนักแสดงแล้วก็จะได้สิทธินักแสดงเสมอไปโดยไม่มีข้อจำกัด โดยที่สิทธิของนักแสดงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นี้ ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย
โจทก์เป็นนักแสดงโดยรับจ้างให้ทำหน้าที่พิธีกรร่วมในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า มีหน้าที่วิจารณ์และสัมภาษณ์นักแสดงที่เชิญมาร่วมงาน โดยโจทก์แสดงท่าทาง เต้นและร้องเพลงให้งานสนุกสนานเท่านั้น ซึ่งลักษณะการกระทำของโจทก์ไม่ได้เป็นการสื่อความหมายหรือแสดงให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงที่เป็นการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบเป็นเรื่องราวของนักแสดงตามที่บัญญัติไว้ในบทนิยามมาตรา 4 ทั้งไม่ปรากฏว่าสิ่งที่โจทก์นำมาแสดงประกอบท่าทางหรือการแสดงในงานรื่นเริงดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการอุทิศฝีมือหรือความสามารถเฉพาะตัวของโจทก์ซึ่งได้สั่งสมมายาวนานหลายสิบปี ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถในการสร้างความบันเทิงของโจทก์แก่ผู้ร่วมงานตามที่รับจ้างมา ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของสิทธิของนักแสดงอันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44, 45, 52, 69, 74, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ระงับการทำละเมิดต่อสิทธิของนักแสดงของโจทก์ จ่ายค่าปรับตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่โจทก์ และริบสิ่งบันทึกการแสดง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 โจทก์รับจ้างนายชูชัยเป็นพิธีกรร่วมในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้าที่โรงละครคิงส์พาวเวอร์ มีหน้าที่วิจารณ์และสัมภาษณ์นักแสดงที่เชิญมาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน โดยโจทก์แสดงท่าทาง เต้น และร้องให้งานสนุกสนาน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการได้นำเทปในงานเลี้ยงดังกล่าวไปออกอากาศในรายการ “7 กะรัต” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในการทำหน้าที่พิธีกรร่วมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์มีสิทธิของนักแสดงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หรือไม่ เห็นว่า สิทธิของนักแสดงในประเทศไทยเพิ่งจะได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก โดยบัญญัติอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ต่อจากหมวด 1 ว่าด้วยลิขสิทธิ์ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นักแสดงซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 และมาตรา 45 มีความหมายตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า “ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด” โดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 และตามบทนิยามมาตรา 4 มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครองในฐานะสิทธินักแสดงควรเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อความจากบทนิยามในมาตรา 4 จะเห็นได้ว่าสิทธิของนักแสดงเป็นการที่นักแสดงได้นำงาน “ดนตรีกรรม” หรืองาน “นาฏกรรม” อันได้แก่ การเล่นดนตรี การร้อง หรือการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์มาแสดงให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรือนำคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาแสดงให้บุคคลอื่นชื่นชม โดยที่นักแสดงนั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์งานหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซึ่งการนำเสนองานดังกล่าวนักแสดงได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะให้เกิดมีคุณค่าอันควรได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องจากผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ทำนองเป็นสิทธิข้างเคียงกับลิขสิทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ของนักแสดงแล้วก็จะได้สิทธินักแสดงเสมอไปโดยไม่มีข้อจำกัด โดยที่สิทธิของนักแสดงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นี้ ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องและทางไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ได้ความเพียงว่า โจทก์เป็นนักแสดงโดยรับจ้างให้ทำหน้าที่พิธีกรร่วมในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้าที่โรงละครคิงส์พาวเวอร์ มีหน้าที่วิจารณ์และสัมภาษณ์นักแสดงที่เชิญมาร่วมงาน โดยโจทก์แสดงท่าทาง เต้น และร้องเพลงให้งานสนุกสนานเท่านั้น ซึ่งลักษณะการกระทำของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ไม่ได้เป็นการสื่อความหมายหรือแสดงให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงที่เป็นการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบเป็นเรื่องราวของนักแสดงตามที่บัญญัติไว้ในบทนิยามมาตรา 4 ทั้งไม่ปรากฏว่าสิ่งที่โจทก์นำมาแสดงประกอบท่าทางหรือการแสดงในงานรื่นเริงดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการอุทิศฝีมือหรือความสามารถเฉพาะตัวของโจทก์ซึ่งได้สั่งสมมายาวนานหลายสิบปีก็ตาม ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถในการสร้างความบันเทิงของโจทก์แก่ผู้ร่วมงานตามที่รับจ้างมาซึ่งไม่อยู่ในความหมายของสิทธิของนักแสดงอันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบตามฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share