แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาเสร็จและส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) บัญญัติว่า นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณา ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ แต่จำเลยและผู้ร้องต่างไม่แจ้งให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รู้ว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย และไม่ปรากฎว่าศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีล้มละลายอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย กรณีจึงต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลฎีกาต้องงดการพิจารณาคดีไว้ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 95,418,454.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 47,597,938.37 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองคือ สิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เลขที่ 110, 110/5 ถึง 110/6 หมู่ที่ 9 ถนนเพชรเกษม ซอย 33 ถึง 35 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างอื่นที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 457, 458, 459, 477, 3604, 4258, 476, 50568, 6105, 37854, 42205, 50566, 53856, 53855, 50567, 39663, 66542, 66541, 66540,66539, 57779, 57778, 57777, 39664, 39665, 39666, 4259, 95238, 95239, 95240, 95241, 39667, 95242, 95243, 3041, 33834, 33837, 3602, 33835, 33836, 12331 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทพุฒิแก้ว จำกัด โฉนดเลขที่ 4261 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัททรัพย์กวี จำกัด และโฉนดเลขที่ 478 เป็นกรรมสิทธิ์ของนางกวีนี โดยที่ดินทั้งหมดตั้งอยู่ที่แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 66,855,779.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี ของต้นเงิน 47,597,938.37 บาท นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 47,597,938.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 พฤษภาคม 2545) ย้อนหลังไปไม่เกิน 5 ปี โดยคิดอัตราดังกล่าวถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2542 และจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามอัตราในบัญชีเงินกู้และรายการชำระหนี้ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 12,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยอุทธรณ์ ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ตามคำร้องของผู้ร้อง แต่โจทก์ จำเลย และผู้ร้องไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ทราบว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาเสร็จและส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้น้อยกว่าเดิม ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่กระทำหลังจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 โดยอ้างว่าขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ก่อนถึงวันนัดผู้ร้องยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาแล้ว
ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยแล้ว ศาลที่พิจารณาคดีนี้จะต้องงดการพิจารณาไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีหลังวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 จนถึงวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้ว แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้…(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้… ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน…ในกรณีที่มีการฟ้องคดี…ไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น…” แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการและผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่างไม่แจ้งให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รู้ และไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคดีล้มละลายอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย กรณีจึงต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลฎีกาต้องงดการพิจารณาคดีไว้ก่อน และเมื่อไม่แน่ชัดว่าคดีล้มละลายจะเสร็จเมื่อไร จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดี โดยไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออื่นของผู้ร้องอีก
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา หากต่อมาปรากฏว่ามีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป