แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และการไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. กรณีไม่อาจนำ ป.วิ.อ. ใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน แม้การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน มิใช่ว่าเมื่ออัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน แล้วอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ร้องเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ซึ่งผู้ร้องจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ไม่ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พลทหารกฤษดา ผู้ตาย เข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2555 ประจำกองพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีพันตรีภิญโญ เป็นผู้บังคับบัญชาปกครองดูแล ต่อมาผู้ตายกับพวกอีก 3 คน ได้กระทำผิดวินัยฐานดื้อดึงขัดขืน หลีกเลี่ยง ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พันตรีภิญโญจึงสั่งลงโทษผู้ตายกับพวก จำขังคนละ 3 วัน นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป และในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ได้ส่งผู้ตายไปจำขังที่เรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ โดยมีสิบเอกธนารักษ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรประจำเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เป็นผู้รับไว้ หลังจากนั้นผู้ต้องขังรุ่นพี่ คือ พลทหารเอกสิทธิ์ พลทหารธีรพัฒน์ พลทหารชาตรี พลทหารพิรุณ พลทหารเด่นพษ์ พลทหารพินิจ และสิบเอกชลตรีชา ร่วมกันรับน้องใหม่โดยสั่งลงโทษผู้ตายด้วยการดันพื้น ลุกนั่ง กระโดดกบ และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายโดยใช้เท้าเตะที่ลำตัวอย่างแรงหลายครั้ง ต่อมาเวลากลางวัน สิบโทเจษฎาพร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรประจำเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ และพลทหารอานนท์ ผู้ช่วยสิบเวร ได้ร่วมกันฟื้นฟูวินัยโดยสั่งลงโทษผู้ตายด้วยการดันพื้น ลุกนั่ง กระโดดกบ วิ่ง แล้วยังร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตาย โดยใช้ของแข็งตีที่ลำตัวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายเนื่องจากระบบหายใจและหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เหตุเกิดที่ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากผู้ตายถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และมีการชันสูตรพลิกศพผู้ตายแล้ว ขอให้ทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่ทราบได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะไต่สวนและมีคำสั่ง แต่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าวจึงไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจทำการไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเป็นศาลแห่งท้องที่ที่ศพผู้ตายตั้งอยู่ จึงมีอำนาจไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคห้า หาใช่เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดหรือต่อผู้กระทำให้ตาย แม้ผู้ตายจะเป็นทหารประจำการและอยู่ในระหว่างคุมขังในเรือนจำทหารบกก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 วรรคแรก ทั้งการไต่สวนและทำคำสั่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสามารถนำมาใช้บังคับได้โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 เนื่องจากวิธีพิจารณาความอาญาทหารไม่มีกฎหมาย กฎ และข้อบังคับในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไว้โดยเฉพาะ แม้ได้ความว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหารประจำการซึ่งต้องถูกฟ้องต่อศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และ 16 (3) ก็ตาม แต่การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหาใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 บัญญัติว่า “อำนาจศาล อำนาจผู้พิพากษา อำนาจพนักงานอัยการ และอำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยการจัดตั้งศาลยุติธรรม และระบุอำนาจและหน้าที่ของผู้พิพากษา หรือซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้น ๆ” มาตรา 150 วรรคห้า บัญญัติว่า “เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ ” และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 บัญญัติว่า “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้ (1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และการไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งกรณีก็ไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน ดังนี้ ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพแต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น แม้การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วเท่านั้น มิใช่ว่าเมื่ออัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือนแล้วอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ร้องเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งผู้ร้องจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ไม่ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน