คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นจำเลยในคดีก่อนและถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นผู้แทนของทายาท เมื่อโจทก์เป็นทายาทด้วยคนหนึ่งต้องถือว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวเป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย คู่ความคดีนี้และคู่ความในคดีก่อนจึงเป็นคู่ความเดียวกัน
คดีก่อนมีประเด็นวินิจฉัยว่า โจทก์คดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นคดีนี้มีว่าจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยคดีนี้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือไม่ จึงถือว่าประเด็นในคดีนี้และประเด็นในคดีก่อนเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในปัญหาว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือไม่ คำพิพากษาคดีก่อนที่พิพากษาว่า จำเลยคดีนี้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า จำเลยมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายนามและนางสาย และห้ามจำเลยใช้ชื่อสกุล “เส็งนา” อีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความและให้จำเลยส่งเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2627/2548 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายนามและนางสาย เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2506 นายนามและนางสายจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2520 ซึ่งระบุว่าจำเลยเป็นบุตรนายนามและนางสาย เมื่อนายนามถึงแก่กรรม โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายนาม ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายนามตามคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 1093/2536 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10854 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายนาม โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2300/2548 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คำเบิกความของจำเลยคดีดังกล่าวและคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2300/2548 หมายเลขแดงที่ 2627/2548 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์โจทก์ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ยกคำร้อง เนื่องจากเป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามรายงานกระบวนพิจารณา นอกจากนี้จำเลยยังฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา ข้อหายักยอกทรัพย์มรดกตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1032/2549 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และฟ้องโจทก์กับพวกรวม 2 คน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2109/2449 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2627/2448 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์หรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนจะต้องได้ความว่า คู่ความทั้งสองคดีเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้และคดีก่อนเป็นประเด็นอย่างเดียวกันและคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยในคดีนี้และคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกัน โดยโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อน ส่วนจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ในคดีก่อน แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นจำเลยในคดีก่อนและถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นผู้แทนของทายาทซึ่งโจทก์เป็นทายาทด้วยคนหนึ่ง จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นทายาทเป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย ดังนั้น คู่ความคดีนี้และคู่ความในคดีก่อนจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อนมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์คดีก่อน (จำเลยคดีนี้) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นคดีนี้มีว่า จำเลยคดีนี้ (โจทก์คดีก่อน) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยคดีนี้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลหรือไม่ จึงถือว่าประเด็นในคดีนี้และประเด็นในคดีก่อนเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ในปัญหาว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยมีสิทธิใช้ชื่อสกุล “เส็งนา” หรือไม่ เมื่อคำพิพากษาคดีก่อนศาลพิพากษาว่า จำเลยคดีนี้ (โจทก์คดีก่อน) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายนาม คำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ (จำเลยคดีก่อน) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คดีนี้ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยคดีนี้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายนาม ฉะนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุล “เส็งนา” ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share