คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5653/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มิใช่บทความผิดแต่เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกรรมการบริษัท เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือระงับการกระทำดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 313, 315 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311, 313 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ซึ่งเป็นบทกฎหมายโดยเฉพาะ ให้จำคุก 5 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลและบริหารทั่วไปของบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติโครงการเพื่อการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในราคาหุ้นละไม่เกิน 20 บาท ระยะเวลาการลงทุนระหว่างเดือนธันวาคม 2541 และเดือนมกราคม 2542 ตามโครงการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นบริษัทไวท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จากบริษัทกรีนวู๊ด จำกัด โดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ดามารา จำกัด จำนวน 1,293,500 หุ้น ในราคาหุ้นละ 20 บาท และจำเลยที่ 2 ซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จากตลาดหลักทรัพย์ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวศิริพันธุ์ 9 ครั้ง นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ได้ซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยวิธีตกลงราคาอีก 2 ครั้ง ในราคาหุ้นละ 15 บาท ครั้งแรกเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์จำนวน 104,300 หุ้น จากบริษัทอดิเทพทรัสต์ จำกัด ซึ่งฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) และครั้งที่สองเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์บนกระดาน จำนวน 150,000 หุ้น จาก AXIOM INVESTMENT ตามใบรับฝากหลักทรัพย์ รวมจำเลยที่ 2 ซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไว้ทั้งหมด 450,700 หุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 5,338,585.34 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 450,000 หุ้น ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในราคาหุ้นละ 19.75 บาท โดยวิธีขายในตลาดหลักทรัพย์บนกระดานต่างประเทศ รวมเป็นเงิน 8,838,618.75 บาท ตามใบยืนยันการซื้อ/ขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวเป็นเงิน 3,500,033.41 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารเป็นโครงการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เสนอโดยนายปริญญาและจำเลยที่ 1 กับนายโรเบิร์ต ร่วมกันลงชื่ออนุมัติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทราบเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2541 แล้ว และจากการซื้อขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของจำเลยที่ 2 ทั้ง 9 ครั้ง ในตลาดหลักทรัพย์มีจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องถึง 5 ครั้ง คือ ในครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 8 และครั้งที่ 9 โดยเป็นการถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยที่ 1 แม้จำนวนเงินที่ถอนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คชำระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาเวลาในการถอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กับเวลาในการนำฝากเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ใกล้ชิดติดต่อกันที่เครื่องทำรายการเครื่องเดียวกัน มีเหตุผลให้เชื่อว่าการถอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 และนำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยที่ 2 กระทำโดยบุคคลคนเดียวกัน และยังได้ความจากคำให้การของนางสาวศิริพันธุ์ว่า นางสาวศิริพันธุ์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ซื้อขายหลักทรัพย์ใดบ้าง ไม่ทราบถึงผลกำไรขาดทุนที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อหรือขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้วยตนเองก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 จัดการถอนเงินแทนโดยมีนายปรุง เป็นผู้รับมอบฉันทะไปดำเนินการนำฝากเพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวศิริพันธุ์ โดยที่นางสาวศิริพันธุ์ไม่ทราบรายละเอียด ทั้งมีการกระทำในลักษณะเดียวกันซ้ำติดต่อกันถึง 5 ครั้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 2 ในการซื้อขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวศิริพันธุ์ที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ปกปิดอำพรางเพื่อไม่ให้สืบสาวถึงจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ควรที่จะกระทำการดังกล่าวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในนามของบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยทั้งสองกลับร่วมกันซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จากตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำ แล้วนำมาขายต่อให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในราคาที่สูงกว่า ย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นการซื้อในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่จำต้องคำนึงว่าหลังจากบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาแล้วจะนำไปขายได้กำไรหรือขาดทุนในเวลาต่อมาหรือไม่ ทั้งการกระทำดังกล่าว เพียงผู้กระทำมีตำแหน่งเป็นกรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 และมาตรา 313 ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และดำเนินการเกี่ยวกับการถอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 นำมาชำระค่าหุ้น ทั้งติดต่อสั่งขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ตัดตอนข้อเท็จจริงโดยนำเอาเฉพาะการซื้อขายหุ้น 5 ครั้ง ที่มีการเบิกเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะนำข้อเท็จจริงส่วนใดมาฟ้อง ย่อมอยู่ในดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นความผิดหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิที่จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำทั้งหมดเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ หากจำเลยที่ 2 เห็นว่า เมื่อศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วจะทำให้ศาลเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด การที่โจทก์นำการซื้อขายหุ้นบริษัทไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 5 ครั้ง ที่จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องมาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบและมิได้เป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรายละเอียด ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้ ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วยนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่บทความผิด แต่เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกรรมการของบริษัทเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือให้ระงับการกระทำดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 311 ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 311 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share