คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7746/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้เห็นว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ซึ่งมิใช่กฎหมาย ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้อย่างไร ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดเพียงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์แล้ว ทั้งยังปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,096,057.42 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17001, 35191, 35192 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 6,980,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เพิกถอนหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ซื้อทรัพย์
ผู้ซื้อทรัพย์คัดค้านว่า ราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อที่ดินไปนั้นเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายและประกาศการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีละเลยไม่ปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม 2550 ตามสำเนาประกาศขายทอดตลาด และตามสำเนารายงานการเดินหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ดินทั้งสามแปลง นั้น ปรากฏว่ามีรายงานการนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ ณ ที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งสามแปลงในวันที่ 9 มกราคม2550 แผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนการขายทอดตลาดครั้งแรกและรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานข้อเท็จจริง ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรียืนยันว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้วประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้เห็นว่าตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ซึ่งมิใช่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้อย่างไร ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 306 กำหนดเพียงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์แล้ว ทั้งยังปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ที่บ้านเลขที่ 62/127 หมู่ที่ 11 แฟลตทหารช่างถนนพหลโยธิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรอง ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 506/2547 แล้ว ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการต่อมาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาที่ต่ำเกินควรนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยประเด็นตามคำร้องที่กล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปในราคาที่ต่ำเกินควรไว้ว่า ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าราคาขายควรจะเป็นราคา 12,000,000 บาท เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยที่ 1 จะฎีกาต่อมา ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share