คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เมื่อตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดว่าเหตุเกิดที่ใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจำต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องพิจารณาปัญหาอื่นอีก และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 317
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เมื่อตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดว่าเหตุเกิดที่ใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจำต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องพิจารณาปัญหาอื่นอีก และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share