แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541) ฯ กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตาม มาตรา 63 แต่ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หมายความว่าลูกจ้างที่ทำงานดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ซึ่งวันทำงานไม่ได้หมายถึงวันที่นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติตามความหมายของคำว่า “วันทำงาน” ในมาตรา 5 แต่หมายถึงวันทำงานที่ลูกจ้างได้ทำ และตาม มาตรา 62 (2) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ดังนั้นหากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามปกติก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติ หากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานในวันหยุดคือ 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติ
โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด จึงได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันหยุดหรืออัตรา 2 เท่า ของค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 2,866 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุดจำนวน 8,830 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่ค้างชำระจำนวน 6,975 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กันยายน 2550) ไปจนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าพนักงานแต่ละคนจะปฏิบัติงานปกติวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุด มีวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย เข้าทำงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 23.25 บาท โจทก์ทำงานในวันหยุดวันละ 12 ชั่วโมง แต่จำเลยคิดค่าทำงานในวันหยุดเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก 8 ชั่วโมง จ่ายให้สองเท่าเป็น 16 ชั่วโมง ส่วน 4 ชั่วโมง หลังจ่ายให้หนึ่งเท่า และตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 โจทก์ทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 13 วัน และทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์จำนวน 62 วัน และโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ถึงเดือนสิงหาคม 2550 จำนวน 2,866 บาท ตามฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่โจทก์เป็นลูกจ้างประเภทไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด เมื่อจำเลยสั่งให้โจทก์มาทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 13 วัน และวันหยุดประจำสัปดาห์จำนวน 62 วัน โจทก์ทำงานในวันหยุดวันละ 12 ชั่วโมง ทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำตามมาตรา 62 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยไม่อาจยกกรณีการจ่ายค่าล่วงเวลาสำหรับงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินตามมาตรา 65 (8) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541) ลงวันที่ 14 กันยายน 2541 ที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตาม มาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดสองเท่าหาได้ไม่ โจทก์เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จำเลยสั่งให้โจทก์มาทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำสัปดาห์ทุกวัน และโจทก์ทำงานในวันหยุดวันละ 12 ชั่วโมง โดยแยกเป็นการทำงานในวันหยุดตามประเพณี 13 วัน และวันหยุดประจำสัปดาห์ 62 วัน รวมเป็นจำนวน 75 วัน ดังนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงที่ทำ เท่ากับจำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดวันละ 24 ชั่วโมง เมื่อจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์เพียงวันละ 20 ชั่วโมง ยังขาดอยู่วันละ 4 ชั่วโมง เมื่อคิดจากวันทำงานในวันหยุด 75 วัน รวมค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจ่ายไม่ครบจำนวน 300 ชั่วโมง คิดจากค่าจ้างชั่วโมงละ 23.25 บาท รวมเป็นค่าจ้างที่จำเลยค้างหรือจ่ายไม่ครบถ้วนจำนวน 6,975 บาท
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสองเท่าหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินประจำธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขานครศรีธรรมราช ซึ่งมีลักษณะงานตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541)ฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการทำงานในวันหยุดเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราหนึ่งเท่า หรือเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานนั้น เห็นว่า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541)ฯ กำหนดให้งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินเป็นงานตามมาตรา 65 (8) ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตาม มาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หมายความว่าลูกจ้างที่ทำงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ซึ่งวันทำงานดังกล่าวนี้มิใช่หมายถึงวันที่นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติตามความหมายของคำว่า “วันทำงาน” ในมาตรา 5 แต่หมายความถึงวันทำงานที่ลูกจ้างได้ทำ และตามมาตรา 62 (2) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ดังนั้น หากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามปกติก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติ แต่หากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานในวันหยุดคือสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติ คดีนี้โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ 62 วัน และทำงานในวันหยุดตามประเพณี 13 วัน โดยทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เมื่อโจทก์มีเวลาทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง โจทก์จึงทำงานล่วงเวลาในวันหยุดวันละ 4 ชั่วโมง และมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันหยุดหรืออัตราสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามปกติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541)ฯ แต่จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ไปแล้วจำนวนหนึ่งเท่า จึงจ่ายค่าตอบแทนขาดไปจำนวนหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามปกติ ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน