คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3845/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้รวมทั้งหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามมาตราดังกล่าว ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2540 ก็หาได้หมายความว่าคู่สัญญาไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายที่ตราไว้เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 30,622,984.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,177,943.28 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้ระหว่างธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ขัดต่อวัตถุประสงค์ของบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) และขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า วัตถุประสงค์ของบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือรับรอง ในการรับโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการกู้ยืมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการโดยทั่วไป มิใช่วัตถุประสงค์ในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหาร ทั้งการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นกิจการพิเศษที่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและมิใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ จึงไม่มีสิทธิรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น เห็นว่า การที่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้ รวมทั้งหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้ โดยมีข้อตกลงว่า ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 เมื่อธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามมาตรา 303 ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 150 ดังนั้น ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) จึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้แก่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ แม้บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ก็หาได้หมายความว่าคู่สัญญาไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายพิเศษที่ตราขึ้นไว้เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถือได้ว่าอยู่ในวัตถุประสงค์ข้อ 4 ของบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า ซื้อทรัพย์สินหรือสิทธิและหน้าที่ทุกชนิดทุกประเภท ซึ่งสามารถกระทำได้มิได้เป็นการนอกเหนือวัตถุประสงค์ ดังนั้น โจทก์ย่อมสามารถรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ต่อมาได้ และเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้มาในคำให้การ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share