แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแพงพวยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่าผิดข้อตกลงในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาโดยสั่งซื้อจากโจทก์หลายครั้งหลายรายการ แต่ไม่ชำระเงินค่าสินค้า ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่าไม่ต้องรับผิดเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ การสั่งซื้อสินค้าที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ไม่สุจริต เมื่อจำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีภารกิจในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองหลายประการ ซึ่งรวมถึงการให้บริการระบบประปาอันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏว่า การซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามข้อตกลงที่ให้จำเลยได้รับเครดิตในการซื้อสินค้าเพื่อใช้สำหรับให้บริการระบบประปาแก่ประชาชนในท้องถิ่นของจำเลย และการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวได้กระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่จำเลยมอบหมาย โดยตามคำฟ้องจำเลยสั่งซื้อหลายครั้งหลายรายการและเป็นจำนวนมากลักษณะเพื่อนำไปให้บริการตามภารกิจ ข้อตกลงในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๓/๒๕๕๖
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลจังหวัดราชบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดราชบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นายวัลลภ วิริยะทวีกุล โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแพงพวย จำเลย ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๘/๒๕๕๔ ความว่า ระหว่างวันที่ ๑๖ มิถุนายน ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ จำเลยสั่งซื้อสินค้าเป็นวัสดุอุปกรณ์ประปาประเภทประตูน้ำทองเหลือง วาล์วทองเหลือง ท่อน้ำพีวีซี ข้อต่อ ใบเลื่อย และมาตรน้ำจากโจทก์จำนวน ๒๕ ครั้ง เพื่อนำไปให้บริการในกิจการของจำเลย โดยในทางปฏิบัติจำเลยจะให้นายเกียรติศักดิ์ กลีบเมฆ พนักงานจ้างทั่วไป ตำแหน่งพนักงานผลิตน้ำประปาของจำเลย เป็นผู้สั่งซื้อทั้งด้วยวาจาและโดยมีใบสั่งของแล้วรับสินค้าไปจากโจทก์ แต่เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โจทก์แจ้งยอดค่าสินค้าค้างชำระเป็นเงิน ๖๐๐,๑๖๘.๓๕ บาท ให้จำเลยทราบ จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าไม่อาจเบิกจ่ายเงินค่าสินค้าให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงิน ๖๐๐,๑๖๘.๓๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยสั่งซื้อและไม่เคยรับสินค้าที่โจทก์กล่าวอ้าง นายเกียรติศักดิ์ กลีบเมฆ เป็นผู้ปลอมเอกสารการสั่งของไปดำเนินการติดต่อกับร้านค้าโจทก์แล้วรับสินค้าไปใช้ในทางส่วนตัว โดยนายเกียรติศักดิ์ทำหนังสือชี้แจงยอมรับผิดไว้ จึงเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจและไม่มีผลผูกพันจำเลย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอให้ลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายเกียรติศักดิ์และต่อมาได้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ และจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมแล้ว โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการซื้อขายที่ต้องมีใบสั่งของที่ถูกต้องและต้องเรียกเก็บเงินทุกเดือน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการค้าทั่วไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดราชบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นกรณีที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายสินค้าประเภทวัสดุอุปกรณ์ประปาระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งจำเลยอยู่ในฐานะเสมอภาคเช่นเดียวกับเอกชน มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง กรณีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้สอยและอุปโภค บริโภค รวมถึงระบบการประปา อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจของจำเลยที่มีหน้าที่จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตรตามมาตรา ๖๘ (๑) สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการจัดหาน้ำประปาสำหรับบริการประชาชนในเขตตำบลแพงพวย ตลอดจนการซ่อมแซมระบบประปาของจำเลยอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ตลอดโดยไม่ขัดข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสาธารณูปโภคตามอำนาจหน้าที่และภารกิจของจำเลย สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดหาหรือจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่าผิดข้อตกลงในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาโดยสั่งซื้อจากโจทก์หลายครั้งหลายรายการ แต่ไม่ชำระเงินค่าสินค้า ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่าไม่ต้องรับผิดเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ การสั่งซื้อสินค้าที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ไม่สุจริต ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปา กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าข้อตกลงซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีภารกิจในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองหลายประการ ซึ่งรวมถึงการให้บริการระบบประปาอันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏว่า การซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามข้อตกลงที่ให้จำเลยได้รับเครดิตในการซื้อสินค้าเพื่อใช้สำหรับให้บริการระบบประปาแก่ประชาชนในท้องถิ่นของจำเลย และการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวได้กระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่จำเลยมอบหมาย โดยตามคำฟ้องจำเลยสั่งซื้อหลายครั้งหลายรายการและเป็นจำนวนมากลักษณะ เพื่อนำไปให้บริการตามภารกิจ ข้อตกลงในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประปาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวัลลภ วิริยะทวีกุล โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลแพงพวย จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ