คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16243/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดกรรมหนึ่งแยกจากการกระทำความผิดข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด และ 400 เม็ด ในภายหลัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิด 3 กรรม
การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับและยึดเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด และ 400 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายไปยังไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 10 ปี และปรับกระทงละ 550,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต และปรับ 2,100,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดรวม 2 กรรม แต่ละกรรมเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี และปรับกระทงละ 400,000 บาท รวมจำคุก 12 ปี และปรับ 800,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2550 เจ้าพนักงานตำรวจจับนายประเสริฐ ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด นายประเสริฐ แจ้งว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากนายหรัญวัชร์หรือจอย และให้ความร่วมมือในการติดตามจับนายหรัญวัชร์ ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2550 นายหรัญวัชร์โทรศัพท์ติดต่อให้นายประเสริฐไปรับเมทแอมเฟตามีนที่บริเวณหน้าร้านจำหน่ายกรอบรูปแห่งหนึ่ง อยู่ในอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เจ้าพนักงานตำรวจจึงคุมตัวนายประเสริฐไปยังจุดนัดพบ นายประเสริฐแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่านายหรัญวัชร์คือคนขับรถกระบะที่จอดรออยู่ เจ้าพนักงานตำรวจจึงแสดงตัวเข้าจับนายหรัญวัชร์และนางสาวอนุสราหรือแมว และตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 1,500 เม็ด อยู่ใต้เบาะคนขับนายหรัญวัชร์แจ้งว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจากนายแช๊คจำนวนหนึ่งและแบ่งให้จำเลย 1,000 เม็ด และให้ความร่วมมือในการติดตามจับจำเลยในวันดังกล่าว โดยโทรศัพท์นัดให้จำเลยมาพบที่ร้านเป็ดย่างเช็กกี่ ถนนนาคา อำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งอยู่เยื้องกับธนาคารไทยพาณิชย์ แต่จำเลยโทรศัพท์ให้ไปพบที่ใต้ถุนอาคารธนาคารไทยพาณิชย์แทน เมื่อไปถึงนายหรัญวัชร์ชี้ว่าจำเลยนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าจับจำเลยซึ่งพยายามขับรถจักรยานยนต์หลบหนี เมื่อจับจำเลยได้แล้วจำเลยแจ้งว่าแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้นายอนุพงศ์หรือเอ็ม 600 เม็ด อีก 400 เม็ด มอบให้นายพล เจ้าพนักงานตำรวจคุมตัวจำเลยไปที่บ้านเช่าของนายอนุพงศ์ ไปถึงพบนายอนุพงศ์จึงจับตัวและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด และอาวุธปืนขนาด .38 พร้อมกระสุนปืนอยู่ในกระเป๋าสะพาย เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยโทรศัพท์ติดต่อนายพล แต่นายพลไม่ยอมมาพบและแจ้งว่าจะนำเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ไปคืนที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าแขวงการทาง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปที่ตู้โทรศัพท์ดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนบรรจุในถุงพลาสติกห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ห่อ จึงยึดไว้เป็นของกลาง พนักงานสอบสวนส่งยาเสพติด 600 เม็ด และ 400 เม็ด ดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน หนัก 58.999 กรัม และ 39.386 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 8.960 กรัม และ 6.839 กรัม ตามลำดับ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 3 กรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นั้น เป็นความผิดกรรมหนึ่งแยกจากการกระทำความผิดข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด และ 400 เม็ด ในภายหลัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 3 กรรมตามที่โจทก์ฟ้อง มิใช่ความผิด 2 กรรม ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับและยึดเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด และ 400 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายไปยังไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดโทษให้จำเลยในความผิดข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามข้อหามีเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสม
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุก 20 ปี และปรับ 1,000,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็น จำคุก 40 ปี และปรับ 2,100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share