คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3327/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 12 เดือน และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3327/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นางจันทนา และนายมานพ ซึ่งเป็นบุตรผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยและนายธนพล สามีจำเลยมาพบผู้เสียหายที่บ้าน เพื่อขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย จำนวน 5,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนในวันที่ 10 มิถุนายน 2547 มีการทำหลักฐานสัญญากู้ไว้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ มีนายธนพล สามีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 10 มิถุนายน 2547 จำเลยและนายธนพลมาที่บ้านของผู้เสียหายอีก แล้วจำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนเป็นเช็ค 1 ฉบับ โดยจำเลยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อในเช็คต่อหน้าผู้เสียหาย บุตรผู้เสียหายและนางสุภาพ ภริยาผู้เสียหาย แล้วมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายไว้ ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายมอบหมายให้นางจันทนานำเช็คไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขา บ้านกรวด ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” นางจันทนาจึงแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้เสียหายทราบ ผู้เสียหายติดต่อจำเลย จำเลยขอเวลา 2 ถึง 3 วัน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยก็ไม่ได้ชำระเงินแก่ผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ผู้เสียหาย จำเลยและนายธนพลไปเจรจากันที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านบัว จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ข้อตกลงว่า จำเลยยอมรับสภาพหนี้โดยจำเลยยอมชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 9,200,000 บาท เนื่องจากเมื่อจำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 5,500,000 บาท ไปแล้วจำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายเพิ่มอีกหลายครั้ง รวมเป็นหนี้ 15,000,000 บาท สำหรับเงินจำนวน 9,200,000 บาท นั้น จำเลยตกลงชำระคืนให้แก่ผู้เสียหายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2547 แต่เมื่อถึงกำหนด จำเลยไม่ชำระ เห็นว่า ในตอนที่มีการออกเช็คพิพาทจำเลยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คไว้ แต่มีการมาจดวันที่ลงในเช็คพิพาทในภายหลัง จำเลยนำสืบความข้อนี้ว่า ผู้เสียหายให้จำเลยเขียนเช็ค 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 5,500,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ให้แก่ผู้เสียหายจริง แต่มิได้ระบุวันที่สั่งจ่ายไว้ ลายมือชื่อของจำเลยด้านบนของวันที่ที่อยู่ในเช็คพิพาทนั้น ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ยังไม่มีการระบุวันที่ โดยจำเลยอ้างว่าวันที่ที่ลงในเช็คพิพาทนั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้เขียนด้วยตนเอง ส่วนจำนวนเงินและลายมือชื่อของจำเลยนั้นเขียนด้วยตนเองโดยไม่สมัครใจ พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อพิรุธอยู่หลายประการ และไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทในขณะที่ออกเช็คนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าทางนำสืบของโจทก์ ผู้เสียหายและพยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ลงข้อความทั้งหมดในเช็คพิพาทรวมถึงวันที่ลงในเช็คด้วยนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายและพยานโจทก์ต่างมีความสัมพันธ์เป็นบิดากับบุตร อาจเบิกความเข้าข้างหรือช่วยเหลือกันได้ ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น แต่หามีผลที่จะลงโทษผู้ออกเช็คในทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยยกฟ้องโดยเอาบทกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาวินิจฉัยจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 ประกอบมาตรา 214, 215 นั้น เห็นว่า สาระสำคัญของความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่จำเลยออกเช็คโดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว แม้จะอ้างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share