คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของผู้ขนส่งน้ำมันไว้ว่า คือผู้ที่รับจ้างทำการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิใช่เป็นของตนเองโดยใช้ยานพาหนะสำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทั้งมาตรา 12, 14 และ 15 ยังบัญญัติให้ผู้ขนส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนราชการอีกหลายประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ขนส่งน้ำมันตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงผู้ที่ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเพียงพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของบริษัท ต. ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งน้ำมันตามความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานเป็นผู้ขนส่งน้ำมันกระทำการปลอมปนตาม มาตรา 49 วรรคสอง คงมีความผิดตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔, ๑๒, ๒๕, ๔๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๑๒, ๒๕, ๔๙ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายอนนท์ พนักงานของผู้เสียหาย นายสุพลกับ นายอำพล พนักงานของผู้เสียหายซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเบิกความตรงกันว่าบ่อพักที่ ๒ สำหรับการขายส่งน้ำมันซึ่งแยกหัวจ่ายออกจากหัวจ่ายการขายปลีกสอด คล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย และการขายส่งน้ำมันจะมีเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน นายอนนท์ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยด้วยว่า หัวจ่ายน้ำมันจะระบุปริมาณของน้ำมันที่ขาย แต่ปรากฏว่าหัวจ่ายน้ำมันที่จ่ายจากบ่อพักที่ ๒ ยังมีตัวเลขคงเดิม แสดงว่าไม่มีการจ่ายน้ำมันออกจากหัวจ่ายน้ำมันดังกล่าวภายหลังเติมน้ำมัน ๗,๐๐๐ ลิตรไปแล้ว จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าหลังจากจำเลยได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงมาถ่ายลงในบ่อพักที่ ๒ แล้วไม่มีการจ่ายน้ำมันจากหัวจ่ายดังกล่าวแต่อย่างใด คำเบิกความของผู้เสียหายเจือสมกับคำเบิกความของนายจักรพันธ์และนายจตุพงษ์พยานจำเลย โดยนายจักรพันธ์เบิกความรับข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลาช่วงบ่าย ผู้เสียหายได้โทรศัพท์แจ้งว่าน้ำมันที่ส่งให้แก่ผู้เสียหายมีน้ำเจือปนอยู่ และนายจตุพงษ์เบิกความรับข้อเท็จจริงว่า พยานได้ไปดูสถานที่เกิดเหตุและได้มีการทาครีมตรวจสอบน้ำมัน เมื่อจุ่มลงในบ่อน้ำมันปรากฏว่าครีมดังกล่าวเปลี่ยนเป็นสีแดง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายได้แจ้งให้นายจักรพันธ์ทราบในทันทีหลังจากทราบว่ามีน้ำปนอยู่กับน้ำมันในบ่อพักที่ ๒ คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวนี้เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า นายจตุพงษ์ได้เรียกจำเลยเข้าไปพบต่อหน้าผู้เสียหายและยังถามจำเลยว่าทำอะไรกับน้ำมัน จำเลยตอบว่าไม่ได้ทำ จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าได้พักกินข้าวที่ปั๊มหลอดที่อำเภอปักธงชัยและได้พาผู้เสียหายไปดูปั๊มหลอดดังกล่าว แม้จำเลยจะมิได้เบิกความถึงข้อที่ได้บอกผู้เสียหายว่าจำเลยได้เติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันดังกล่าว แต่พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เมื่อฟังประกอบกับที่นายอนนท์เบิกความถึงการที่จำเลยใช้เท้าเตะซีลปิดฝาถังน้ำมันถึง ๔ ช่อง แล้วได้ถ่ายน้ำมันจากถังช่องที่ ๓ และที่ ๔ ลงในบ่อพักที่ ๒ อันเป็นถังเดียวกับที่จำเลยเปิดซีลฝาถังน้ำมัน ย่อมแสดงถึงข้อพิรุธของจำเลยที่จะกลบเกลื่อนมิให้นายอนนท์ได้ทราบว่าซีลปิดฝาถังน้ำมันอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยหรือไม่ การที่นายอนนท์เปิดฝาถังน้ำมันเพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันว่าอยู่ตรงตามปริมาณหรือไม่โดยไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันว่ามีสิ่งใดเจือปนอยู่ย่อมเป็นเรื่องปกติของการรับน้ำมันที่เกิดจากความไว้วางใจกัน และในวันเดียวกันนั้นผู้เสียหายก็ได้ชำระเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแก่บริษัทต้องบุญปิโตรเลียม จำกัด ด้วยเงินสดในทันที ประกอบกับหากน้ำมันในบ่อพักที่ ๒ จะพร่องลงเพราะมีการจ่ายน้ำมันก็จะปรากฏความเคลื่อนไหวของตัวเลขที่หัวจ่ายน้ำมัน แต่เลขวัดปริมาณน้ำมันที่จำหน่ายยังคงเป็นเลขเดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าไม่มีการจ่ายน้ำมันจากบ่อพักที่ ๒ ดังกล่าว ดังนั้น จึงเชื่อว่าน้ำมันที่มีการตรวจสอบในบ่อพักที่ ๒ เป็นน้ำมันที่ผู้เสียหายได้รับจากจำเลย ซึ่งจำเลยเป็นผู้ครอบครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำมาส่งแก่ผู้เสียหายมาโดยตลอดจนกระทั่งนำส่งให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปลอมปนสภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตนดูแลอยู่ แต่จำเลยกลับแวะพักที่บริเวณปั๊มน้ำมันลอยขนาดเล็กและได้เปิดซีลฝาถังน้ำมันอีก ๔ ซีลก่อนที่จะถ่ายน้ำมันลงในบ่อพักที่ ๒ และที่ ๓ ย่อมเป็นข้อพิรุธควรแก่การสงสัยว่าจำเลยได้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันจากปั๊มน้ำมันลอยดังกล่าวหรือไม่ ทั้งไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายซึ่งชำระค่าน้ำมันด้วยเงินสดแล้วจะแกล้งปลอมปนน้ำมันขึ้นเองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทต้องบุญปิโตรเลียม จำกัด แม้พนักงานของผู้เสียหายจะไม่ได้ตรวจวัดน้ำมันโดยใช้ยาวัดน้ำตรวจสอบและตักน้ำมันจากด้านบนของถังไปวัดค่าเอ.พี.ไอ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตามที่ นายจตุพงษ์กล่าวอ้าง ก็เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทต้องบุญปิโตรเลียม จำกัด ในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งเท่านั้น หาเป็นเหตุแก้ตัวให้จำเลยพ้นจากความรับผิดในการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ เมื่อประมวลถึงพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบ ประกอบกับพยานโจทก์ทุกปากไม่เคยรู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และไม่มีเหตุอันควรแก่การที่จะปรักปรำจำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทต้องบุญปิโตรเลียม จำกัด จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย แต่ที่โจทก์ฟ้องและฎีกาว่าจำเลยผู้กระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ขนส่งน้ำมันตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๒ ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา ๔๙ วรรคสองนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ บัญญัติความหมายของผู้ขนส่งน้ำมันไว้ว่า คือผู้ที่รับจ้างขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิใช่เป็นของตนเอง โดยใช้ยานพาหนะสำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทั้งมาตรา ๑๒, ๑๔ และ ๑๕ ยังบัญญัติให้ผู้ขนส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนราชการอีกหลายประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ขนส่งน้ำมันตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ หมายถึงผู้ที่ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเพียงพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของบริษัทต้องบุญปิโตรเลียม จำกัด ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งน้ำมันตามความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานเป็นผู้ขนส่งน้ำมันกระทำการปลอมปนตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง ตามฟ้องและฎีกาของโจทก์ จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง, ๔๙ วรรคหนึ่ง โทษจำคุกให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share