คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16405/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถูกศาลในคดีก่อนพิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ปรากฏว่าวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้ เป็นวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดลักษณะอย่างเดียวกัน ถึงแม้ว่าโจทก์คดีนี้จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอ้างความผิดตามมาตรา 267 เพิ่มเข้ามาอีกด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะอย่างเดียวกันกับคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน และที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีนี้ในข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 และข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามมาตรา 267 ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยเจตนาและความมุ่งหมายอย่างเดียวกันที่จะให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทยอมรับการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจการลงนามของกรรมการ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีก่อนมี ย. เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองคดีต่างฟ้องจำเลยในการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในการกระทำอันเดียวกันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้จะนำการกระทำอันเดียวกันของจำเลยที่ 1 มาฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดกรรมเดียวกันไม่จำต้องถูกลงโทษซ้ำสองครั้ง
แม้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จะยังไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อคดีก่อนพิจารณาเสร็จและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาย่อมเป็นผลให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในคดีนี้ย่อมต้องสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 อีกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 137, 267
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 นำเอกสารไปยื่นต่อนายทะเบียนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ของพนักงานบริษัทภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 คดีโจทก์ไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ และไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ดังนั้น คดีของโจทก์ในส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงยุติ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ของโจทก์ระงับไปแล้ว เพราะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โจทก์ฎีกาว่า คดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3974/2550 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชนอันเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลในคดีก่อนพิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ปรากฏว่า วัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้ เป็นวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดลักษณะอย่างเดียวกัน ถึงแม้ว่าโจทก์คดีนี้จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอ้างความผิดตามมาตรา 267 เพิ่มเข้ามาอีกด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะอย่างเดียวกันกับคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน และที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีนี้ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 และข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามมาตรา 267 ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยเจตนาและความมุ่งหมายอย่างเดียวกันที่จะให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทยอมรับการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจการลงนามของกรรมการ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างโจทก์อ้างในฎีกา ดังนั้น มูลเหตุที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีก่อนกับในคดีนี้จึงมิใช่การกระทำต่างกรรมกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คดีก่อนกับคดีนี้โจทก์ไม่ใช่คนเดียวกัน เห็นว่า แม้คดีก่อนมีนายยงยุทธ์เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองคดีต่างฟ้องจำเลยในการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในการกระทำอันเดียวกันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้จะนำการกระทำอันเดียวกันของจำเลยที่ 1 มาฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดกรรมเดียวกันไม่ควรต้องถูกลงโทษซ้ำสองครั้ง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่า ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ คดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษานั้น เห็นว่า แม้ในวันที่โจทก์มายื่นฟ้องคดีนี้จะยังไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อคดีก่อนพิจารณาเสร็จและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาย่อมเป็นผลให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในคดีนี้ย่อมต้องสิ้นสุดลงด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 อีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share