แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ย่อยาว
ย่อยาวคำพิพากษาฎีกาที่ 6301/2556
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นางจิตรา ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางจิตรา ผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วงดไต่สวนและมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับมรดกของผู้ตาย จึงยกคำร้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ ค่าขึ้นศาลมีเพียง ๒๐๐ บาท จึงไม่คืนให้
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นางจิตรา ผู้ตาย ทำพินัยกรรมตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๑๓ กำหนดว่า ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ คือ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ สำหรับคดีนี้แม้ผู้ร้องจะไม่ได้เป็นทายาทของผู้ตาย
แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาท ตามมาตรา ๑๗๑๙ และ ๑๗๒๐ จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก คำสั่งของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่.