คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน พร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 933,000 บาท และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับรายชื่อหัวคะแนนบรรจุในห่อใหญ่ 9 ห่อ ซึ่งมีบัญชีรายชื่อภายในแต่ละห่อมีห่อย่อย 37 ห่อ แต่ละห่อย่อยมีซองจดหมายบรรจุธนบัตร 2 ซอง แต่ละซองระบุเลขรหัสและชื่อบุคคลกำกับไว้อยู่ภายในกระเป๋าผ้าร่ม แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ที่ไปพบบรรดาหัวคะแนนและแกนนำชาวบ้านเพื่อให้สนับสนุนโดยหาคนมาช่วยลงคะแนนให้ อ. ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมายเลข 9 มีการให้สิ่งตอบแทนแก่คนเหล่านั้นแล้ว แต่ขณะจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางทั้งหมดไว้ มีการจัดทำธนบัตรของกลางไว้พร้อมโดยแยกเป็นห่อและเป็นซองย่อยพร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่หัวคะแนนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อในตำบลขุนยวมและตำบลเมืองปอน โดยลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือว่าจำเลยจัดเตรียมเพื่อจะให้ธนบัตรของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น หรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใดหรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด แม้จำเลยจะยังไม่ได้แจกจ่ายหรือให้ธนบัตรนั้นแก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย จำเลยก็กระทำความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 4, 6, 7, 44, 101 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี ริบเงินจำนวน 933,000 บาท และกระเป๋าผ้าร่มของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบเงินจำนวน 933,000 บาท และกระเป๋าผ้าร่มของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1), 101 จำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ร้อยตรีประวิทย์รับแจ้งเหตุเพียงว่าจะมีการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการขนเงินโดยใช้รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บล 6276 เชียงใหม่ จากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปให้หัวคะแนนตามอำเภอต่าง ๆ โดยไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดของเส้นทาง การที่ร้อยตรีประวิทย์ ทำการตั้งด่านบนถนนสายแม่ฮ่องสอน – ปาย แต่ไม่พบการกระทำความผิดจึงย้ายมาตั้งด่านที่จุดตรวจค้น จับกุมจำเลยก็ไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด และการที่ผู้รับแจ้งเหตุไม่ได้ระบุชื่อและนามสกุลผู้ขับรถก็เป็นเพียงรายละเอียดที่อาจตรวจสอบได้ภายหลัง อีกทั้งการที่ไม่มีบันทึกรับแจ้งเหตุก็ไม่มีกฎหรือข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติอันจะทำให้พยานโจทก์ขาดความน่าเชื่อถือ พยานโจทก์นอกจากมีร้อยตรีประวิทย์เบิกความยืนยันว่า ขณะตั้งด่านตรวจพบรถยนต์แล่นมาจึงส่งสัญญาณให้หยุด พบจำเลยเป็นผู้ขับรถโดยจำเลยแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการเจ้าหน้าที่ป่าไม้และบอกว่าเป็นลูกศิษย์ของร้อยตรีประวิทย์ที่สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ขอไม่ให้ตรวจค้น นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกถวิลหรืออานันท์ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทำหน้าที่อยู่ที่จุดตรวจค้นด้วยเบิกความว่า ระหว่างอยู่ที่ตั้งจุดตรวจ ร้อยตำรวจเอกสง่า หัวหน้าชุดตรวจ ส่งสัญญาณให้รถยนต์กระบะที่แล่นมาจอด ร้อยตำรวจเอกถวิลกับพวกขอตรวจค้นแต่คนขับไม่ยอม โดยพยายามขับรถเคลื่อนตัวออกไป แต่ยังไม่พ้นจุดตรวจได้มีเจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนสกัดไว้ จำเลยเปิดกระจกพร้อมกับแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้และไม่ให้ตรวจค้น แต่ร้อยตำรวจเอกถวิลกับพวกไม่ยอม จำเลยจึงเปิดประตูยอมให้ตรวจค้นและเมื่อร้อยตำรวจเอกถวิลพบกระเป๋าผ้า จำเลยอ้างว่าเป็นกระเป๋าเสื้อผ้าส่วนตัวอย่าตรวจค้น และยื้อแย่งกับร้อยตำรวจเอกถวิล จนร้อยตำรวจเอกถวิลแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานกำลังปฏิบัติหน้าที่ จำเลยจึงยินยอม จากพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าจำเลยย่อมทราบดีว่าภายในกระเป๋าผ้ามีสิ่งของผิดกฎหมายที่จำเลยพยายามปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้น ที่จำเลยอ้างว่ากระเป๋าผ้าเป็นของชายที่ขออาศัยรถมาด้วยก็ไม่ตรงกับที่แจ้งแก่ร้อยตำรวจเอกถวิลและร้อยตรีประวิทย์ว่ามีคนฝากกระเป๋าให้นำไปลงที่อำเภอขุนยวม ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้างและเป็นข้อแก้ตัวที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ที่จำเลยฎีกาว่า ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างเรื่องของกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีหรือบุคคลฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่พยายามสร้างพยานหลักฐานเท็จแล้วให้มีการจับกุมของกลางคดีนี้ ซึ่งจำเลยไม่รู้เห็นหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ นั้น ล้วนเป็นข้อแก้ตัวของจำเลยที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการตรวจค้นจับกุมจำเลยกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจหลายคน รวมทั้งมีสื่อมวลชนติดตามมาทำข่าวด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาเป็นสักขีพยาน หากเป็นเรื่องไม่จริงหรือมีการกลั่นแกล้งดังที่จำเลยอ้าง จำเลยก็น่าจะชี้แจงและร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ากระเป๋าผ้าเป็นของชายซึ่งขออาศัยรถมาที่เคยเห็นหน้ามาก่อนและมีบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงานของจำเลยก็ไม่น่าเชื่อที่ชายตามที่อ้างจะฝากเงินจำนวนมากร่วมหนึ่งล้านบาทให้แก่จำเลยที่ไม่รู้จักสนิทสนมกันมาก่อนและเพิ่งพบเห็นในคืนเกิดเหตุอีกทั้งเป็นเวลาดึกมากแล้วเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงจำนวนเงินกับรายชื่อบุคคล สถานที่และเลขรหัสล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกันกับบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านตำบลขุนยวมและตำบลเมืองปอน ที่พนักงานสอบสวนตรวจสอบบุคคลล้วนมีชื่อตรงกับบัญชีรายชื่อที่พบพร้อมกับธนบัตรของกลางที่อยู่ในกระเป๋าผ้าที่ยึดได้จากจำเลย ซึ่งเป็นการยากที่เจ้าพนักงานหรือผู้ใดจะตระเตรียมมาเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยอีกทั้งร้อยตรีประวิทย์ก็เป็นอาจารย์ของจำเลย ส่วนเจ้าพนักงานอื่นล้วนปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย เชื่อว่าจำเลยมีความเกี่ยวข้องกับกระเป๋าผ้าซึ่งภายในบรรจุธนบัตรและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จำเลยต่อสู้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่เก็บลายนิ้วมือแฝงจึงทำให้ขาดพยานหลักฐานเพราะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏว่าจำเลยไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระเป๋าผ้าที่บรรจุเงินนั้น เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งกรณีนี้พนักงานสอบสวนอาจพิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยแล้ว จึงไม่ทำให้พยานโจทก์มีข้อพิรุธสงสัยแต่ประการใด การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน พร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาทและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับรายชื่อหัวคะแนนดังที่กล่าวมา แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้ที่ไปพบบรรดาหัวคะแนนและแกนนำชาวบ้านเพื่อให้สนับสนุนโดยหาคนมาช่วยลงคะแนนให้นายอัครเดช ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมายเลข 9 มีการให้สิ่งตอบแทนแก่คนเหล่านั้นแล้ว แต่การที่ขณะจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางทั้งหมดไว้ มีการจัดทำธนบัตรของกลางไว้พร้อมโดยแยกเป็นห่อและเป็นซองย่อยพร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่หัวคะแนนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อในตำบลขุนยวมและตำบลเมืองปอน โดยลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือว่าจำเลยจัดเตรียมเพื่อจะให้ธนบัตรของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น หรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใดหรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด แม้จำเลยจะยังไม่ได้แจกจ่ายหรือให้ธนบัตรนั้นแก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย จำเลยก็กระทำความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง หามีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว ข้อ 4 ยังได้บัญญัติว่า “ศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังมีผลบังคับใช้ต่อไปด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป
พิพากษายืน

Share