แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า “กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างใด จึงไม่อาจเพิ่มโทษตามบทกฎหมายดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8, 10, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง รถยนต์หมายเลขทะเบียน บธ 8836 ลำปาง กระเป๋าหิ้ว 1 ใบ ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 15/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 10 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิตและปรับคนละ 1,000,000 บาท ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าของบทบัญญัติดังกล่าวได้อีก ทั้งไม่อาจนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ซึ่งคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นจำคุก 50 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 25 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,500,000 บาท ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 500,000 บาท ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง รถยนต์หมายเลขทะเบียน บธ 8836 ลำปาง กระเป๋าหิ้ว 1 ใบ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 15/2550 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากศาลตัดสินจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต จึงไม่นับโทษต่อให้ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 3,000,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ไม่ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน บธ 8836 ลำปาง ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 1,770 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสี่เบิกความว่า เมื่อจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำพยานไปชี้บ้านของจำเลยที่ 4 กับโจทก์มีบันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 4 นำมาขายให้แก่สายลับ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำพนักงานสอบสวนไปชี้บ้านของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า มีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 4 ว่าที่เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปบ้านของจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักบ้านของจำเลยที่ 4 มาก่อน นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 4 ก็ไม่พบยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใดทั้งจำเลยที่ 4 ก็ให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า “กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างใด ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขจึงเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5