แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกทั้งหมดของ ร. แล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกทั้งหมดจาก ร. มาเป็นของโจทก์ กรณีจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกของ ร. ให้โจทก์ตามส่วน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสที่ได้มาระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ร. ก็ตาม แต่การที่จะพิพากษาแบ่งมรดกแก่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธินั้น จะต้องพิจารณาถึงทรัพย์แต่ละรายการว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ การวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นสินส่วนตัวของ ร. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ร. กับจำเลยจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงแรกนั้น ร. ได้มาภายหลังจากสมรสกับจำเลย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส จำเลยมีสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งต้องแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนของ ร. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินให้แก่ ต. ไปแล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่สามารถพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยได้รับจากการขายที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ร. ทุกคน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าขายที่ดินในฐานะทายาทหลังจากแบ่งสินสมรสแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนายรส และให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 2 งาน 25 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 33611 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2626 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 2 งาน 25 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 33611 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2626 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการแบ่งแยก 1 ใน 4 ส่วน และจำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการแบ่งแยก 3 ใน 4 ส่วน หากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน โดยกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ10,000 บาท แทนโจทก์ และไม่กำหนดค่าใช้จ่ายดำเนินคดีให้โจทก์ คำขออื่นให้ยกเฉพาะค่าขึ้นศาลโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาจึงให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นายรสจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายสมศักดิ์และนางนงนุช นายรสถึงแก่ความตายขณะถึงแก่ความตายผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนด 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 และ 33611 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2626 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อีกแปลงหนึ่ง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นบุตรที่นายรสรับรองแล้วและมีสิทธิรับมรดกของนายรสหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังว่าโจทก์เป็นบุตรของนายรสซึ่งนายรสได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกของนายรส ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามส่วน เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกทั้งหมดของนายรสแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกทั้งหมดของนายรสมาเป็นโจทก์ กรณีเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) ที่บัญญัติว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้รับแต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกของนายรสให้แก่โจทก์ตามส่วน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ฏีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกของนายรสให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นของนายรสที่ได้มาระหว่างที่ตนเองสมรสกับนายรส จึงต้องแบ่งให้จำเลยกึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงแบ่งให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายรสตามส่วนนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสที่ได้มาระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับนายรสก็ตาม แต่การที่จะพิพากษาแบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธินั้นจะต้องพิจารณาถึงทรัพย์แต่ละรายการว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ ดังนั้น การวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นสินส่วนตัวของนายรสหรือเป็นสินสมรสระหว่างนายรสกับจำเลยจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายรสได้ที่ดินดังกล่าวมาก่อนจะนำมาออกโฉนดที่ดินเพราะเหตุใดและตั้งแต่เมื่อใด จากหลักฐานที่ปรากฏคงได้ความว่า เป็นการได้ที่ดินมาภายหลังจากสมรสกับจำเลยแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายรสกับจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจึงต้องแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนของนายรส แต่ตามสารบัญจดทะเบียนระบุว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินให้แก่นางต่อมแก้ว เป็นการโอนขายให้กับบุคคลภายนอกก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่สามารถพิพากษาให้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ แต่เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวขายให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยย่อมได้รับเงินค่าที่ดิน ซึ่งต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของนายรสทุกคน โดยแบ่งสินสมรสระหว่างนายรสกับจำเลย ในราคาที่ดินดังกล่าวกึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งให้นำมาแบ่งกันในระหว่างทายาท ซึ่งมี 4 คน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในฐานะทายาทหลังจากแบ่งสินสมรสแล้ว 1 ใน 4 ส่วน สำหรับที่ดินอีกแปลงหนึ่งตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2626 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ตามสารบัญจดทะเบียนระบุว่า เดิมเป็นของนายยะ นายยะโอนมรดกให้นายรส จึงเป็นที่ดินที่นายรสได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก เป็นสินส่วนตัวของนายรสตามมาตรา 1471 (3) จึงต้องแบ่งที่ดินทั้งแปลงให้กับทายาทของนายรสทุกคน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินแปลงนี้ 1 ใน 4 ส่วน ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 33611 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายรสได้ที่ดินแปลงดังกล่าวมาครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของนายรส จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้เป็นสินสมรสระหว่างนายรสกับจำเลย ก่อนแบ่งปันให้แก่ทายาทจึงต้องแบ่งสินสมรสระหว่างนายรสกับจำเลยก่อน จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้กึ่งหนึ่ง ที่ดินส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งต้องนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทของนายรส โจทก์มีสิทธิได้รับที่ดินแปลงนี้ 1 ใน 4 ส่วน ของที่ดินที่เหลือ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้ 1 ใน 4 ส่วนของที่ดินทั้งแปลง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้รับทราบการตายของนายรสตั้งแต่ปี 2548 แต่ฟ้องคดีเมื่อปี 2552 เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทราบการตายของเจ้ามรดก คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ประเด็นปัญหาเรื่องอายุความ แต่เพิ่งยกขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายรสให้จำเลย 1 ใน 4 ส่วน และให้แบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2626 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน กับให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 33611 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ส่วนที่เป็นมรดกของนายรสให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ