คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22241/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2478 มาตรา 43 กฎกระทรวงหมาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แพ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) และจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 92 และเพิ่มโทษตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 3 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายวีระศักดิ์ ผู้เสียหาย และจำเลยซึ่งประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่วินเดียวกัน เกิดเหตุชกต่อยและยื้อแย่งเลื่อยกัน ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดที่ฝ่ามือซ้าย นิ้วชี้และนิ้วกลางมือขวาตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความและโจทก์ยังมีนายสมศักดิ์เป็นพยานเบิกความ เห็นว่า ทั้งผู้เสียหายและนายสมศักดิ์เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ชกต่อยทั้งสองครั้งและเหตุการณ์ที่จำเลยคว้าเลื่อยจากรถเข็นของเทศบาลที่ผ่านมาแล้วใช้ทำร้ายผู้เสียหายสอดคล้องตรงกัน เพียงแต่นายสมศักดิ์ไม่ได้เบิกความถึงถ้อยคำที่ผู้เสียหายและจำเลยโต้ตอบกันซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเป็นญาติกับทั้งสองฝ่ายเกรงจะกระทบความสัมพันธ์จึงไม่เบิกความถึง แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายแล้วจะเห็นได้ว่าผู้เสียหายเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งผู้เสียหายมีส่วนก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดยั่วยุท้าทายที่พูดออกมาล้วนสอดคล้องกับเหตุการณ์และลักษณะรูปร่างของผู้เสียหาย ซึ่งได้ความจากการตอบทนายจำเลยถามค้านว่าผู้เสียหายรูปร่างใหญ่กว่าจำเลย เชื่อได้ว่าผู้เสียหายเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยตามความเป็นจริง จำเลยคงแต่อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันในการรับผู้โดยสารแล้วเกิดการต่อสู้ชกต่อยกัน เมื่อมีคนเข้าห้ามให้แยกจากกันแล้ว ผู้เสียหายยังพูดจาท้าทายจำเลยว่าเอาอีกไหม จำเลยตอบว่าเอาอีก การตอบเช่นนั้นพร้อมกับเข้าชกต่อยกับผู้เสียหายและต่อเนื่องมาจนถึงการคว้าเลื่อยจากรถเข็นแล้วใช้ทำร้ายผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจเข้าต่อสู้วิวาทกับผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยใช้เลื่อยทำร้ายผู้เสียหายจนมีบาดแผลที่ฝ่ามือซ้ายยาว 9 เซนติเมตร ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ และมีบาดแผลฉีกขาดอันเกิดจากการยื้อแย่งเลื่อยที่นิ้วชี้และนิ้วกลางมือขวายาวแผลละ 1 เซนติเมตร แพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษา 15 วัน ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ถือได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยพ้นโทษตามคำพิพากษาแล้วจึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 การเพิ่มโทษจำเลยไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 43 กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) และจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share