แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนคำฟ้อง และพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายว่า จำเลยตั้งโรงรับจำนำ ประกอบการรับจำนำสิ่งของ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กบไสไม้ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่น ๆ เป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุรกิจแต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะได้ไถ่คืน โจทก์มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้สมฟ้อง แต่โจทก์มีพยานเพียง 3 คน เบิกความว่านำสิ่งของจำนำไว้แก่จำเลยเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้หนังสือสัญญาซื้อขาย 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบก 10 เล่ม มาเป็นของกลาง แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและมิได้นำสืบให้เห็นว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถนั้นเกี่ยวข้องกับการรับจำนำสิ่งของที่ร้านค้าของจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งในชั้นสอบสวนก็ไม่ได้สอบผู้ที่ทำสัญญาซื้อขาย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถเป็นพยานเกี่ยวกับการรับจำนำสิ่งของของจำเลยอันจะเป็นพฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นปกติธุระตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505 จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 4, 8, 39 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 4, 8 วรรคหนึ่ง, 39 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 3 เดือน ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ให้จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน และให้คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้จดทะเบียนพาณิชย์ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ศรีกิจรัตน์ จำหน่ายเครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และรับซื้อขายของเก่าทุกชนิด โดยได้รับอนุญาตให้ขายทอดตลาดและค้าของเก่า ตามใบทะเบียนพาณิชย์และใบอนุญาตให้ขายทอดตลาดและค้าของเก่า เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านศรีกิจรัตน์ของจำเลยยึดได้หนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบกจำนวน 10 เล่ม เป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนฟ้องและพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยตั้งโรงรับจำนำใช้ชื่อว่าร้านศรีกิจรัตน์ อันเป็นสถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กบไสไม้ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่น ๆ เป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุรกิจ แต่ละรายมีจำนวนไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยมีข้อตกลงว่าจะได้ไถ่คืนภายหลัง ดังนั้น โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นสมฟ้องว่าในระหว่างวันและเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ระบุในฟ้องจำเลยรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวบุปผา นายวีระพล และนางนิพันธ์พร พยานโจทก์เพียง 3 คนว่า พยานโจทก์ทั้งสามนำสิ่งของไปจำนำไว้แก่จำเลยเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้หนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบกจำนวน 10 เล่ม ตามบัญชีของกลางคดีอาญามาเป็นของกลางประกอบคดี แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและมิได้นำสืบให้เห็นว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถนั้นเกี่ยวข้องกับการรับจำนำสิ่งของที่ร้านค้าของจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสุขสันต์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า พยานไม่ได้สอบสวนผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายตามหนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 69 เล่ม ในบัญชีของกลางคดีอาญาเป็นพยาน เช่นนี้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถตามบัญชีของกลางคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการรับจำนำสิ่งของของจำเลยอันจะเป็นพฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นปกติธุระ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีช่วงเวลาที่กระทำความผิดต่อเนื่องกันถึง 8 เดือนเศษ แต่ได้ความจากพยานโจทก์เพียง 3 คนว่า จำเลยรับจำนำสิ่งของจากพยานโจทก์เท่านั้น โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันสนับสนุนว่าจำเลยรับจำนำสิ่งของเป็นปกติธุระให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดสมฟ้อง พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอถือว่าจำเลยรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานั้น โจทก์มีนางสาวบุปผา นายวีระพลและนางนิพันธ์พรเบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า พยานโจทก์ทั้งสามนำสิ่งของไปจำนำไว้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามต่างมิได้เบิกความยืนยันว่า พยานโจทก์ทั้งสามกู้ยืมเงินจำเลยโดยจำเลยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราแต่ประการใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น สำหรับหนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบกจำนวน 10 เล่ม ของกลางนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดซึ่งจะต้องคืนแก่เจ้าของ แม้โจทก์มิได้มีคำขอมาก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ