คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14258/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในบริเวณศาลาการเปรียญวัดหนองบัวอันเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักประตูเหล็กพับยืด 4 บาน ราคา 20,000 บาท ของวัดหนองบัว ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองบัวผู้เสียหาย และเก็บรักษาไว้ในสถานที่ดังกล่าวไป โดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) นอกจากองค์ประกอบความผิดที่ว่าสถานที่ที่ลักทรัพย์ต้องเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะแล้ว ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ต้องเข้าในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์วัดหนองบัวได้หวงห้ามหรือปิดกั้นมิให้ประชาชนซึ่งเข้าไปในวัดหนองบัวเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปลักประตูเหล็กพับยืดในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมิใช่เป็นการเข้าไปลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ และให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนประตูเหล็กยืด 4 บาน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยลักเอาประตูเหล็กพับยืด 4 บาน ราคา 20,000 บาท ของวัดหนองบัว ซึ่งวางอยู่บริเวณข้างศาลาการเปรียญของวัดหนองบัวไป ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยมีสิทธิเข้าไปได้หรือไม่ เพราะการบริการสาธารณะทุกคนก็มีสิทธิเข้าไปใช้ได้อยู่แล้ว เมื่อได้ความว่าประตูเหล็กพับยืดวางอยู่ติดกับศาลาการเปรียญถือได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตามฟ้องแล้วนั้น เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) นอกจากองค์ประกอบความผิดที่ว่าสถานที่ที่ลักทรัพย์ต้องเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะแล้ว ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ต้องเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์วัดหนองบัวได้หวงห้ามหรือปิดกั้นมิให้ประชาชนซึ่งเข้าไปในวัดหนองบัวเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปลักประตูเหล็กพับยืดในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมิใช่เป็นการเข้าไปลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share