แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทถึงกำหนดเมื่อทวงถามมิใช่ถึงกำหนดเมื่อได้เห็น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ โดยหาจำต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินก่อนไม่
ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความระบุไว้ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แสดงว่าไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ใช่เบี้ยปรับ เฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าศาลเห็นว่าส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16 ต่อปี สูงเกินส่วน ศาลจะลดไปจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 32,751,196.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 27,745,961.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 29,165,794.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 27,745,961.66 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ให้นำเงินที่โจทก์ได้รับชำระจำนวน 16 ครั้ง คือ วันที่ 2 ธันวาคม 2541 จำนวน 26,851.50 บาท วันที่ 22 ธันวาคม 2541 จำนวน 88,510.50 บาท วันที่ 19 เมษายน 2542 จำนวน 91,408.33 บาท วันที่ 14 พฤษภาคม 2542 จำนวน 185,502.21 บาท วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 จำนวน 188,780.81 บาท วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จำนวน 189,162.53 บาท วันที่ 27 กรกฎาคม 2543 จำนวน 361,555.27 บาท วันที่ 28 กรกฎาคม 2543 จำนวน 481,698.28 บาท วันที่ 31 กรกฎาคม 2543 จำนวน 490,064.04 บาท วันที่ 1 สิงหาคม 2543 จำนวน 502,201.10 บาท วันที่ 2 สิงหาคม 2543 จำนวน 168,593.16 บาท วันที่ 3 สิงหาคม 2543 จำนวน 167,101.19 บาท วันที่ 4 สิงหาคม 2543 จำนวน 125,325.90 บาท วันที่ 7 สิงหาคม 2543 จำนวน 40,283.32 บาท วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จำนวน 334,699.71 บาท และวันที่ 9 สิงหาคม 2543 จำนวน 169,090.49 บาท ไปหักออกจากดอกเบี้ยค้างชำระในวันที่โจทก์ได้รับชำระก่อน หากมีเงินเหลือให้นำไปหักออกจากต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่เหลือต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุน โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โจทก์โดยนายปลิว มอบอำนาจให้นางจิระภากับนางสุทธินี เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทสินเชื่อระยะสั้น โดยจำเลยได้ขอสินเชื่อในวงเงิน 50,000,000 บาท ในการขอสินเชื่อจำเลยจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินระบุโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อเป็นหลักฐานแห่งหนี้และเพื่อชำระหนี้ จำเลยได้เบิกเงินและรับเงินกู้ไปจากโจทก์จำนวน 50,000,000 บาท และได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้แก่โจทก์ จำเลยกับนายปรีดาได้นำหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทแพรนด้าจิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) จำนวน 961,850 หุ้น จำนำไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A – 97002715 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 30,000,000 บาท แก่โจทก์เมื่อทวงถาม ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี หากผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ภายหลังออกตั๋วจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพียงเดือนเมษายน 2540 จากนั้นไม่ชำระให้อีก ต่อมาโจทก์นำหุ้นที่จำเลยกับนายปรีดาจำนำไว้ออกขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหากจะนำหุ้นออกขายจะต้องมีหลักฐานว่าได้แจ้งบังคับจำนำให้ลูกหนี้ทราบแล้ว โจทก์จึงได้ส่งหนังสือทวงถามไปยังจำเลยและนายปรีดาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ในการนำหุ้นออกขายได้เงิน 8,082,213.37 บาท ยังคงมียอดหนี้ค้างชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นต้นเงินจำนวน 27,745,961.66 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นให้จำเลยใช้เงินตามตั๋วก่อน ถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ให้การไว้ จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ และเห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทถึงกำหนดเมื่อทวงถาม มิใช่ถึงกำหนดเมื่อได้เห็น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ โดยหาจำต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินก่อนไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ในต้นเงินที่ค้างชำระเป็นการเหมาะสมแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า ในปัจจุบันสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดไม่เกินอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จึงเป็นการกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเกินไป เห็นว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของศาล นอกจากกำหนดไปตามกฎหมายแล้วยังต้องเป็นไปตามสัญญาหรือข้อผูกพันที่คู่สัญญาทำไว้ ศาลจึงหาอาจก้าวล่วงไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่ทำไว้โดยชอบได้ไม่ และตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A – 97002715 ที่จำเลยเป็นผู้ออกตั๋วและมอบให้แก่โจทก์นั้น มีข้อตกลงระบุไว้ว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แสดงว่าไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จึงไม่ใช่เบี้ยปรับ เฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าศาลเห็นว่าดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16 ต่อปี สูงเกินส่วน ศาลจะลดไปจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จึงเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ