แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๕๕
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ พันเอก ชัยพฤกษ์ พูนสวัสดิ์ ที่ ๑ นางสวาท คงพันธุ์ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๗๑๓/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ โจทก์ทั้งสองร่วมกันซื้อที่ดินมีโฉนดจากบุคคลภายนอกรวม ๑๓ แปลง ที่ดินทั้งหมดตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยโจทก์ที่ ๑ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน ๙ แปลง เนื้อที่รวม ๒๖ ไร่ ๓๖ ตารางวา และโจทก์ที่ ๒ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน ๔ แปลง เนื้อที่รวม ๑๗ ไร่ ๓๘ ตารางวา โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน พร้อมจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าโฉนดที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงดังกล่าว เป็นโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการออกโฉนดที่ดินได้กระทำโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานและมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ เต็มทั้งแปลง ซึ่งต้องห้ามมิให้เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๘ (๒) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น รวมทั้งไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองกับบุคคลภายนอกผู้ขายที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองทราบว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือทำนิติกรรมอื่นใดได้ โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงดังกล่าวตลอดมา โดยพัฒนาที่ดินด้วยการลงทุนปลูกต้นลำไยและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แต่เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบเกี่ยวกับการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงของโจทก์ทั้งสองว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว และเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๑๕๒๕/๒๕๕๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินรวมจำนวน ๑๕ ฉบับซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินที่ถูกเพิกถอนจำนวน ๑๓ ฉบับ การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลง ถือได้ว่าจำเลยกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้เงินที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียไปจากการซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดินคืนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๑๒,๒๕๘,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันแจ้งการเพิกถอนการออกหนังสือแสดงสิทธิที่ดิน (วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐) จนถึงวันฟ้องจำนวน ๑,๗๘๒,๕๕๖ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๑๔,๐๔๐,๘๕๖ บาท กับให้ชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๑๒,๒๕๘,๓๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่แจ้งข้อเท็จจริงต่อโจทก์ทั้งสอง มิได้เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ส่วนการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นเพียงเพื่อให้ปรากฏสิทธิของคู่สัญญาในทะเบียนสารบบที่ดินและในโฉนดที่ดินเท่านั้น ดังนั้นในการจดทะเบียน เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีหน้าที่เพียงตรวจสอบโฉนดที่ดินที่คู่สัญญานำมายื่นขอจดทะเบียนว่าเป็นฉบับที่แท้จริงและตรวจสอบสารบบที่ดินว่า ผู้ขายเป็นผู้มีสิทธิตามโฉนดที่ดินแล้วสอบถามเจตนาของคู่สัญญา เมื่อเห็นว่าผู้ขายที่ดินเป็นผู้มีสิทธิตามโฉนดที่ดินและคู่สัญญามีเจตนาที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ เจ้าพนักงานที่ดินก็มีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามเจตนาของคู่สัญญา เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำหน้าที่จดทะเบียนไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดินของผู้มีสิทธิตามโฉนดที่ดิน นอกจากนี้โฉนดที่ดินตามฟ้องทั้ง ๑๓ ฉบับ เป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ออกโฉนดโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานและมิได้แจ้งการครอบครองและที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ อธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่า โฉนดที่ดินทั้ง ๑๓ ฉบับตามฟ้องโจทก์ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ และเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามที่ทางราชการเห็นว่า ควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ จึงต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดินซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๑๕๒๕/๒๕๕๑ เรื่อง การเพิกถอนโฉนด ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๑๓ ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และวิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ บัญญัติไว้ การเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองมิได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามฟ้อง คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองมาจากการมีคำสั่งของจำเลยให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจำนวน ๑๓ แปลง จึงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์ทั้งสองขอได้ จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวอ้างในฟ้องหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครอง เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดิน ๑๓ แปลง ตามฟ้อง ได้มาโดยการซื้อจากผู้ครอบครองเดิมและได้ทำประโยชน์ในที่ดินเป็นสวนผลไม้ ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินของโจทก์ทั้งสองรวม ๑๓ แปลง ดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด เห็นว่า จำเลยเป็นกรมและมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินในการออกโฉนดที่ดินและเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยโดยอธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทแล้วเห็นว่าออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งเพิกถอนของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด และคดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องผู้โอนซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือชำระราคาที่ดินคืน เนื่องจากไม่มีที่ดินส่งมอบให้อันเป็นคดีแพ่ง แต่โจทก์ทั้งสองกลับฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยโดยกล่าวอ้างว่าการเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงมุ่งหมายที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายจากการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินและเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องฟ้องคู่กรณีผู้โอน ดังนี้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดตั้งอยู่ ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน รวม ๑๓ แปลง โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงดังกล่าวตลอดมา โดยพัฒนาที่ดินด้วยการลงทุนปลูกต้นลำไยและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แต่เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบเกี่ยวกับการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงของโจทก์ทั้งสองว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการออกโฉนดที่ดินได้กระทำโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานและมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ เต็มทั้งแปลง ซึ่งต้องห้ามมิให้เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๘ (๒) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยได้มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินรวมจำนวน ๑๕ ฉบับ ซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินที่ถูกเพิกถอนจำนวน ๑๓ ฉบับ โดยโจทก์ทั้งสองเห็นว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบในขณะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่า โฉนดที่ดินทั้ง ๑๓ ฉบับดังกล่าว เป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้ง ๑๓ แปลงได้ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้เงินที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียไปจากการซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง การเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองมิได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เมื่อพิเคราะห์จากคำฟ้อง คำให้การแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลวินิจฉัยความเสียหายอันเกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐเท่านั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง พันเอก ชัยพฤกษ์ พูนสวัสดิ์ ที่ ๑ นางสวาท คงพันธุ์ ที่ ๒ โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์/คัดทาน