คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7707/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. ป่าไม้จังหวัดอุดรธานีซึ่งรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกก่อนใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 (เดิม), มาตรา 84 (เดิม) และมาตรา 89 (เดิม) โดยไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ก่อนดังกล่าวนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไข มาตรา 66 และมาตรา 84 โดยก็มิได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนกรณีของจำเลยไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 161, 162, 264, 265, 266, 268, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 17,600 บาท แก่กรมป่าไม้ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 454/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 17,600 บาท แก่กรมป่าไม้ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 454/2545 ให้ยก เนื่องจากศาลมิได้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงและคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 (เดิม) บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. บทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน” มาตรา 84 (เดิม) บัญญัติว่า “การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินสองปี” และในมาตรา 89 (เดิม) บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป” นั้น มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่นายปรีชา ป่าไม้จังหวัดอุดรธานี ซึ่งรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทสุวัฒชัย พนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 ซึ่งอยู่นอกเหนือกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยที่ไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ก่อนดังกล่าวนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขมาตรา 66 และมาตรา 84 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ตามลำดับ ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนกรณีของจำเลยไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share