คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายเป็นรายปี ซึ่งคำว่า รายปี ย่อมมีความหมายว่า เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายปีละหนึ่งครั้งเพียงคราวเดียวโดยไม่ต้องคำนึงว่าป้ายได้ติดตั้งหรือแสดงไว้ในปีนั้นครบทั้งปีหรือไม่ ยกเว้นตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ที่กำหนดว่าเฉพาะป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกที่ให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงวันสิ้นปี ไม่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีแต่ให้คิดเป็นรายงวด งวดละสามเดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี เท่านั้น
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายพิพาทเพิ่มเติมก่อนแจ้งการประเมิน จึงพอถือได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 25 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้แก้การประเมินภาษีป้ายเป็นเงินภาษี 270,000 บาท และงดเงินเพิ่มด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเชฟโลเลต เมื่อเดือนมกราคม 2549 โจทก์ได้ติดตั้งป้ายโฆษณารถยนต์ยี่ห้อเชฟโลเลตบริเวณในเขตตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของจำเลย ในปี 2549 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี พ.ศ.2549 และได้เสียภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย เป็นค่าภาษีป้าย 270,000 บาท และเงินเพิ่ม 27,000 บาท รวม 297,000 บาท ในปี 2550 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี พ.ศ.2550 แสดงป้ายกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย และแสดงป้ายอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าอีกจำนวน 5 ป้าย และโจทก์ได้เสียภาษีป้ายตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย เป็นเงิน 540,000 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2551 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี พ.ศ.2551 แสดงป้ายขนาดเล็กจำนวนหลายป้าย โดยไม่ได้แสดงป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย ในวันที่ 10 เมษายน 2551 ป้ายของโจทก์ขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย ถูกลมพายุพัดล้มเสียหายทั้งหมดจนไม่สามารถใช้งานได้ ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือเตือนแจ้งให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย จากนั้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2551 โจทก์จึงได้มายื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย แต่ระบุในหมายเหตุว่า ป้ายล้ม สาเหตุเกิดจากพายุฤดูร้อนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 พร้อมทั้งได้รื้อถอนออกหมดตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2551 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2551 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายให้โจทก์ชำระภาษีป้าย 540,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มเนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไม่ถูกต้องร้อยละ 10 ของค่าภาษี เป็นจำนวน 54,000 บาท รวม 594,000 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงอุทธรณ์การประเมิน ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า ป้ายของโจทก์ติดตั้งและเสียภาษีปีที่ผ่านมาแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะทำให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเป็นรายปี ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ให้โจทก์เสียภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มเป็นการถูกต้องแล้ว
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีป้ายเป็นรายปีพร้อมเสียเงินเพิ่มชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายโดยเสียเป็นรายปี ซึ่งคำว่า รายปี ย่อมมีความหมายว่า เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายปีละหนึ่งครั้งเพียงคราวเดียว โดยไม่ต้องคำนึงว่าป้ายได้ติดตั้งหรือแสดงไว้ในปีนั้นครบทั้งปีหรือไม่ ยกเว้นตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่งตอนท้าย ที่กำหนดว่าเฉพาะป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงวันสิ้นปีไม่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีแต่ให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละสามเดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี เท่านั้น ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวหากพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มีเจตนารมณ์ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายในปีสุดท้ายเป็นรายปีด้วยก็คงต้องบัญญัติยกเว้นไว้ให้ชัดเจนเหมือนดังเช่นในกรณีการติดตั้งหรือแสดงป้ายในปีแรก ประกอบกับในมาตรา 14 ทวิ วรรคสอง กำหนดให้การติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมและมีพื้นที่ ข้อความ ภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายแล้วตามมาตรา 14 (2) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะปีที่ติดตั้งหรือแสดงป้าย ยิ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จัดเก็บภาษีป้ายเป็นรายปี จึงได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีป้ายสำหรับการติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี เพราะมิฉะนั้นแล้วเจ้าของป้ายก็ต้องเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายเดิมทั้งปีและยังต้องเสียภาษีสำหรับป้ายใหม่เป็นรายงวดซ้ำซ้อนอีกกฎหมายจึงบัญญัติยกเว้นไว้ ประกอบกับถ้ามีการตีความว่าการจัดเก็บภาษีป้ายสำหรับป้ายในปีสุดท้ายไม่ต้องจัดเก็บเป็นรายปีแล้ว หากเกิดกรณีมีการติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมก็จะทำให้จัดเก็บภาษีป้ายเดิมได้เพียงเท่าที่ใช้ประโยชน์ ทั้งไม่อาจเรียกเก็บภาษีสำหรับป้ายใหม่ที่ติดตั้งหรือแสดงไว้แทนป้ายเดิมได้อีกอาจได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 14 ทวิ วรรคสอง ทำให้เป็นช่องทางให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีอันอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการจัดเก็บภาษีป้ายได้ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีป้ายสำหรับป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย ที่ติดตั้งหรือแสดงไว้จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2551 ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 โดยแสดงป้ายไว้หลายป้ายโดยไม่แสดงรายการสำหรับป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย ทั้งที่ในเวลาที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายนั้น ป้ายทั้งสองป้ายดังกล่าวยังไม่ได้ถูกทำลายให้เสียหายแต่อย่างใด อันถือเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไม่ถูกต้องมาแต่ต้น ทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี พ.ศ.2551 สำหรับป้ายขนาดกว้าง 1,500 เซนติเมตร ยาว 4,500 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย และระบุในหมายเหตุว่า ป้ายล้ม สาเหตุเกิดจากพายุฤดูร้อนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ จึงพอถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้มีหนังสือแจ้งการประเมิน จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 25 (2) การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 25 (2) จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะในส่วนเงินเพิ่ม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง

Share