แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ราคารถเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยลักรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ในขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 1 ไป ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินคือรถยนต์หรือราคารถยนต์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดดังกล่าวคืนได้ แต่ผู้ร้องมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยโดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไป ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ดังนั้นความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น จึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสองตามที่ผู้ร้องฎีกาแต่อย่างใด
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินหรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 43 มาตรา 44 หรือ มาตรา 44/1 ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” ดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า ผู้เสียหายในคดีอาญาหมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์ก็มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอา ค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ดังนั้นผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ดังกล่าว จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น
พิพากษายืน