แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เพียงกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้และระยะการชำระหนี้ใหม่เท่านั้น ส่วนข้อตกลงอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามสัญญาเดิมและไม่มีข้อตกลงใดแสดงว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้หนี้กู้ยืมตามสัญญาเดิมระงับแล้วมาบังคับกันใหม่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่
เมื่อสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 4 ให้นำเงื่อนไขและข้อตกลงตามสัญญากู้มาใช้บังคับ และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินและหนังสือกู้เงิน ข้อ 2 วรรคสาม ตกลงให้โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนถึงกำหนดได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร และโดยมิพักต้องชี้แจงให้ผู้กู้ทราบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
โจทก์นำคดีมาฟ้องก็เป็นการใช้สิทธิของโจทก์เองโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ จำเลยที่ 1 คงรับผิดชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ใว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
เมื่อสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน ข้อ 1 มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 ยอมผูกพันรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ และข้อ 3 มีข้อตกลงว่า “ธนาคารยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยจะแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบหรือไม่ให้ทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป และยังผูกพันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ร่วมอยู่ตลอดไป” แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตกลงยกเว้นบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 885,580.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 879,760.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4566 และ 4569 ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับไปและจำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย มีการตกลงเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้ โดยมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท จะชำระหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ และให้ถือว่าสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ และไม่มีข้อความใดแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาให้หนี้กู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินระงับสิ้นไป แล้วมาบังคับกันใหม่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเพียงการกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้ใหม่เท่านั้น เมื่อไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และเมื่อสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างนำพยานเข้ามาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคดีตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองไปคราวเดียวกัน โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเสียก่อน
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินกู้คืนแก่โจทก์ โดยจำเลยที่1 ยังไม่ผิดนัดได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามหนังสือสัญญากู้เงิน แต่จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และยังมิได้ผิดนัด โดยจำเลยที่ 1 นำเงินมาผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ตลอดมาจนกระทั่งโจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว วันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ก็ยังคงนำเงิน 20,000 บาท มาชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 แต่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 4 มีข้อตกลงว่า ” เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ และให้ถือว่าสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เดิม ” และหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 วรรคสาม มีข้อตกลงว่า ” แต่อย่างไรก็ดี แม้ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าวมาแล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิธนาคารที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ฯลฯ โดยธนาคารจะแจ้งให้ผู้กู้ทราบหรือไม่ก็ตาม ผู้กู้ตกลงยินยอมและขอปฏิบัติตามทุกประการโดยพลัน ” เมื่อสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 4 ให้นำเงื่อนไขและข้อตกลงตามสัญญากู้มาใช้บังคับ และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงิน และหนังสือกู้เงิน ข้อ 2 วรรคสาม ตกลงให้โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ก่อนถึงกำหนดได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร และโดยมิพักต้องชี้แจงให้ผู้กู้ทราบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ตามรายการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ได้ความว่า ขณะโจทก์นำคดีมาฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดกับจำเลยที่ 1 ทั้งที่ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ผิดนัดต่อโจทก์ ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก็เป็นการใช้สิทธิของโจทก์เองโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ จำเลยที่ 1 คงรับผิดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 885,580.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดให้คิดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมขั้นต่ำบวกหนึ่ง (MRL + 1) ตามประกาศของโจทก์ และให้นำเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 มาชำระดอกเบี้ยและต้นเงินด้วย
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันแทนผู้ค้ำประกันเดิมนับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 โดยมีกำหนดเวลา 3 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันการกู้ จะได้มีบริษัทสวนขวัญธารแก้ว จำกัด หรือบริษัทในเครือของบริษัทสวนขวัญธารแก้ว จำกัด เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันต่อเนื่องกับผู้ค้ำประกันรายเดิมตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง เมื่อสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน ข้อ 1 มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 ยอมผูกพันรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ และข้อ 3 มีข้อตกลงว่า ” ธนาคารยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยจะแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบหรือไม่ให้ทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป และยังผูกพันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ร่วมอยู่ตลอดไป” แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน ข้อ 3 ตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 885,580.89 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี แต่ทั้งนี้มิให้เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมขั้นต่ำบวกหนึ่ง(MLR + 1) ตามประกาศโจทก์ ของต้นเงิน 879,760.01 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 6 ตุลาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้นำเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 มาชำระดอกเบี้ยและต้นเงินด้วยหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 4566 และ 4569 ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 9,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3