แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท ท. ผู้ส่งและผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งตามสัญญารับขนได้ในเบื้องต้นคือ ค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าสินค้า 34,111.79 ยูโร และค่าเสียหายอื่นตามค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควร โจทก์ผู้รับประกันภัยได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ซึ่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกมากไปกว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยอยู่แต่เดิม แม้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดตามมูลค่าการประกันภัยที่ตกลงกันไว้กับผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงกว่าราคาสินค้าด้วยการรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นความผูกพันกันเฉพาะระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันต่อจำเลยที่ต้องถือว่าค่าเสียหายเป็นไปตามจำนวนที่โจทก์รับประกันภัยเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้เท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย จากพยานหลักฐานในสำนวนที่พอเห็นได้คือ ค่าขนส่งที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้านี้นอกเหนือจากราคาสินค้าที่คิดราคาตาม Incoterms FOB แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงจำนวนเงินค่าขนส่งไว้ให้เห็นได้แน่นอน ในกรณีเช่นนี้เมื่อเห็นว่าค่าขนส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 3,400 ยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่ามีอีกแต่อย่างใดจึงไม่กำหนดให้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 1 ยูโร เท่ากับ 52.7575 บาท ย่อมต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนี้ในการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นเงินบาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 2,092,990.05 บาท กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 2,069,600.75 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทกมลสุโกศลประกันภัย จำกัด หรือบริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,069,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,069,600 บาท และให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยในเงินจำนวน 1,995,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,995,000 บาท นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2548) ต้องไม่เกิน 23,389.30 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าเปลือกเตาเผาปูนจากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโพลิเซียส เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วยเปลือกเตาเผาปูนรูปทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.60 เมตร หนา 30 มิลลิเมตร ความยาวตามปกติ 19 เมตร แต่ต้องตัดแบ่งออกเป็น 5 ท่อน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งและอุปกรณ์ประกอบเตาเผาปูนอีก 1 ชิ้น จึงแยกบรรจุเป็น 6 หีบห่อ สินค้านี้ผลิตในทวีปยุโรปและต้องขนส่งทางทะเลจากเมืองท่าแอนต์เวิร์ป ราชอาณาจักรเบลเยียม โจทก์รับประกันภัยสินค้านี้ในระหว่างการขนส่งจากเมืองท่าจนถึงโรงงานของผู้เอาประกันภัยที่จังหวัดสระบุรี เมื่อเรือขนส่งสินค้ามาถึงท่าเรือศรีราชา จังหวัดชลบุรี และผู้เอาประกันภัยได้รับมอบสินค้าไว้แล้วได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งต่อไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยที่จังหวัดสระบุรี ปรากฏว่าระหว่างการขนส่งเกิดเหตุรถหัวลากหมายเลขทะเบียน 73-3653 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงซึ่งบรรทุกชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนหีบห่อที่ 3 เกิดเฉี่ยวชนกับคานสะพานลอยข้ามถนนขณะแล่นบนถนนพหลโยธินระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 101 และ 102 ทำให้ส่วนบนของชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนท่อนที่ 3 เสียหาย ขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย และจำเลยได้เอาประกันภัยความรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งโดยรถยนต์ต่อบุคคลภายนอกไว้กับจำเลยร่วม บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เรียกร้องค่าเสียหายโดยสิ้นเชิงของสินค้าหีบห่อที่ 3 เป็นเงิน 39,228.56 ยูโร จากโจทก์ตามสัญญาประกันภัย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องคิดเป็นเงินไทยจำนวน 2,069,600.75 บาท เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 แล้ว ปัจจุบันสินค้าที่เสียหายยังเก็บไว้ที่โรงงานผู้เอาประกันภัย และยังไม่มีการนำราคาซากสินค้าหักออกจากจำนวนค่าเสียหายตามฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า กรณีถือได้ว่าสินค้าชิ้นนี้เสียหายโดยสิ้นเชิงหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า สินค้าที่เสียหายดังกล่าวยังสามารถซ่อมแซมด้วยการสั่งซื้อชิ้นส่วนยาว 50 เซนติเมตร มาเชื่อมต่อได้ โดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาควบคุมให้คำปรึกษา ยังถือไม่ได้ว่าสินค้าชิ้นนี้เสียหายโดยสิ้นเชิง ปัญหานี้โจทก์มีนายปรีชา ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายซ่อมบำรุงบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย เบิกความว่า ผู้ผลิตได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบส่วนที่เสียหายแล้วนำข้อมูลกลับไปปรึกษากับฝ่ายเทคนิคของผู้ผลิตที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว ผู้ผลิตมีความเห็นว่าไม่ควรซ่อม เนื่องจากมีแนวเชื่อมเกิดขึ้นใหม่ซึ่งเสี่ยงต่อการแตกหักเมื่อถูกความร้อนสูง และการตัดต่อชิ้นงานนอกโรงงานการผลิตทำได้ยากและไม่ตรง ทั้งหากจะซ่อมจะต้องให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการซ่อม วิธีการซ่อมกระทำโดยตัดชิ้นส่วนที่เสียหายออกประมาณ 50 เซนติเมตร ทั้งวง แล้วสั่งซื้อชิ้นส่วนใหม่ขนาดเดียวกันจากผู้ผลิตมาเชื่อมต่อแทนซึ่งการตัดออกและเชื่อมต่อใหม่นั้น ในประเทศไทยมีผู้รับเหมาที่สามารถทำได้อยู่ 2 ราย ต้องมีกระบวนการพิเศษจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้คำแนะนำและควบคุมงาน เสร็จแล้วต้องมีการเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบ โดยเปลือกเตาเผาปูนนี้ขณะใช้งานภายในเตามีความร้อนสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส และภายนอกของเปลือกเตาเผาปูนก็ยังมีความร้อนสูงถึง 200 องศาเซลเซียส ต้องใช้วัสดุเหล็กทนความร้อนพิเศษและการซ่อมนอกโรงงานผู้ผลิตทำให้ผู้ผลิตไม่อาจรับประกันคุณภาพได้ ทำให้ไม่มีหลักประกันในอายุการใช้งานซึ่งปกติควรใช้ได้อย่างน้อย 10 ปี เห็นได้ว่าคำเบิกความแสดงถึงเหตุผลและข้อมูลทางวิชาการโดยละเอียด และได้ความว่าพยานปากนี้มีวุฒิการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตโดยศึกษาทางด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์และวิศวกรรมอุตสาหการ ทั้งมีประสบการณ์การทำงานบริษัทผู้เอาประกันภัยมาถึง 18 ปี จนปัจจุบันมีตำแหน่งผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายซ่อมบำรุง เชื่อได้ว่าคำเบิกความของพยานเป็นไปตามความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ผู้ขายก็ให้ความเห็นไว้ในใบเสนอราคาว่า เป็นการยากที่จะจัดส่งอะไหล่ช่วงสั้นเพื่อนำไปเปลี่ยนส่วนที่เสียหายให้ และยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะต่อชิ้นส่วนช่วงสั้นเข้ากับชิ้นส่วนใหม่ ทั้งตามใบเสนอราคาก็ปรากฏว่า กรณีส่งชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนที่เสียหายไปซ่อมที่โรงงานของผู้ผลิตก็ดี หรือตัดบางส่วนออกแล้วสั่งซื้อเฉพาะส่วนที่ตัดมาซ่อมแซมในประเทศก็ดี ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนใกล้เคียงกับการซื้อใหม่ ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีเพียงนายอดิศร ผู้ประสานงานโครงการของจำเลย เบิกความว่า การตัดชิ้นส่วนที่เสียหายออก 50 เซนติเมตร และนำชิ้นส่วนที่ซื้อมาใหม่เชื่อมต่อกับชิ้นส่วนเดิมไม่ซับซ้อน เป็นเพียงการนำเหล็กรูปทรงกระบอกมาเชื่อมต่อกันเท่านั้น แต่พยานปากนี้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ที่พยานอ้างว่าสามารถซ่อมได้นั้น พยานทราบจากการเข้าร่วมประชุมกับบริษัท จี เค แอนด์ อาร์ เอสโซซิเอทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจภัยของจำเลยร่วม แต่ก็ไม่มีการเสนอวิธีซ่อมเป็นลายลักษณ์อักษร และพยานยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า พยานไม่ทราบถึงคุณสมบัติของเปลือกเตาเผาปูนว่ามีหลักการทำงานอย่างไร ต้องใช้อุณหภูมิเพียงใด และนำมาประกอบการผลิตอย่างไร แสดงว่าพยานไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ดีพอ คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าชิ้นนี้มีเหตุให้ถือได้ว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า ค่าเสียหายต้องหักค่าซากสินค้าออกก่อนหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า หากซากสินค้าที่เสียหายยังอาจขายได้เงินมาบ้างก็สามารถนำมาหักออกจากค่าเสียหายได้ และตามคำเบิกความของนายปรีชาพยานโจทก์ แม้จะได้ความว่าชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนที่เสียหายที่ยังคงเก็บรักษาไว้ที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยไม่สามารถนำมาใช้งานได้ก็ตาม แต่หากนำไปขายก็ขายเป็นเศษเหล็กได้ ซึ่งมีราคาตลาดประมาณ 20 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม และปรากฏว่าชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนที่เสียหายเป็นเหล็ก มีน้ำหนัก 17,630 กิโลกรัม จึงอาจขายได้เป็นเงิน 352,600 บาท ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าอาจขายได้สูงกว่าราคานี้ จึงควรถือเอาราคาดังกล่าวเป็นค่าซากสินค้าที่ต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมว่า โจทก์ควรได้รับชดใช้เพียงใด ปัญหานี้ ข้อเท็จจริงได้ความยุติว่า สินค้าทั้งหมด 6 หีบห่อ มีน้ำหนักรวม97,500 กิโลกรัม มีราคาตามที่ผู้เอาประกันภัยซื้อรวม 188,650 ยูโร สินค้าชิ้นส่วนเปลือกเตาเผาปูนหีบห่อที่ 3 ที่เสียหายมีน้ำหนัก 17,630 กิโลกรัม และในการคิดคำนวณราคาตามที่โจทก์คิดเฉลี่ยราคาตามน้ำหนักสินค้าส่วนที่เสียหายซึ่งจำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้โต้แย้งวิธีการคิดคำนวณนี้ จึงคิดราคาสินค้าเฉพาะชิ้นที่เสียหายตามน้ำหนักได้เป็นเงิน 34,111.79 ยูโรซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความเสียหายของสินค้าที่ได้รับมอบให้ขนส่งตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บริษัทย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญารับขนได้ในเบื้องต้นคือค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าสินค้า 34,111.79 ยูโร และค่าเสียหายอื่นตามค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควร โดยบริษัทเป็นผู้เอาประกันภัย ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ซึ่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกมากไปกว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยอยู่แต่เดิม โดยแม้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดตามมูลค่าการประกันภัยที่ตกลงกันไว้กับผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงกว่าราคาสินค้าด้วยการรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นความความผูกพันกันเฉพาะระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันต่อจำเลยที่ต้องถือว่าค่าเสียหายเป็นไปตามจำนวนที่โจทก์รับประกันภัยเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้เท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย ซึ่งกล่าวโดยเฉพาะในส่วนค่าเสียหายอื่นนอกเหนือจากราคาสินค้านั้น จากพยานหลักฐานในสำนวนที่พอเห็นได้คือค่าขนส่งที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้านี้ นอกเหนือจากราคาสินค้าที่คิดราคาตาม Incoterms FOB แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงจำนวนเงินค่าขนส่งไว้ให้เห็นได้แน่นอน ในกรณีเช่นนี้เมื่อเห็นว่าค่าขนส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 3,400 ยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่ามีอีกแต่อย่างใดจึงไม่กำหนดให้ สรุปแล้วค่าเสียหายของผู้เอาประกันภัยรวมได้เป็นเงิน 37,511.79 ยูโร โดยโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 1 ยูโร เท่ากับ 52.7575 บาท ย่อมต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนี้ในการคิดคำนวณค่าเสียหาย 37,511.79 ยูโร เป็นเงินบาท ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน จำนวน 1,979,028.26 บาท อุทธรณ์ของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า การบรรทุกขนส่งเปลือกเตาเผาปูนผิดหลักระวางตามกฎหมายจึงอยู่นอกเหนือจากความรับผิดของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นอุทธรณ์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง กรณีที่จำเลยกับจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นนั้นมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ค่าเสียหายจำนวนเดียวกันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ ดังนั้น จึงให้คำพิพากษาที่วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและอุทธรณ์ของจำเลยร่วมมีผลรวมถึงกันไปทั้งจำเลยและจำเลยร่วมด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) โดยจำเลยและจำเลยร่วมต้องรับผิดในค่าเสียหาย 1,979,028.26 บาท หักค่าซากสินค้า 352,600 บาท แล้ว เป็นเงินจำนวน 1,626,428.26 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,626,428.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ