คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8750/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 182 กระทง เป็นจำคุก 364 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 และมาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะบทลงโทษเท่านั้น มิได้แก้ไขกำหนดโทษ ถือว่า เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเพียงคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ประกอบมาตรา 83 แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับยักยอก มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกัน ลักทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 อันเป็นความผิด ยอมความได้ แต่เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 2,397,525 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป (ที่ถูกการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 182 กระทง เป็นจำคุก 364 เดือน แต่ทั้งนี้จำเลยต้องรับโทษทั้งสิ้นเพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำเลยคือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 2,397,525 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 334) และ 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 182 กระทง เป็นจำคุก 364 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษเท่านั้น มิได้แก้ไขกำหนดโทษ ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์มีแต่เพียงคำซัดทอดของนายเสริม ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิด ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยขึ้นมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ดังนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวและในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์อ้างว่า จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,150,000 บาท แก่โจทก์ร่วมแล้ว จึงไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความอันเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก (7) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share