คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4174/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของคำว่า “มี” ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อการจำนำนั้นผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 747 และมาตรา 758 การที่จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจึงมีเจตนายึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มิใช่เพียงแต่ยึดถือไว้แทนจำเลยที่ 1 ชั่วขณะ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 289 (4), 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72ทวิ และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และริบของกลางทั้งหมด ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 4,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 นำอาวุธปืนของกลางไปจำนำไว้กับจำเลยที่ 3 ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนอาวุธปืนจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปจำนำไว้กับจ่าสิบตำรวจชาญ ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจากจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วขณะ ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองอาวุธปืนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 มิได้ยึดถืออาวุธปืนของกลางไว้เพื่อตนนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของคำว่า “มี” ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อการจำนำนั้นผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 และ มาตรา 758 การที่จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจึงมีเจตนายึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มิใช่เพียงแต่ยึดถือปืนไว้แทนจำเลยที่ 1 ชั่วขณะดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share