แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้รักษาทรัพย์ของเจ้าทรัพย์ ซึ่งตกจากรถยนต์และถึงแก่ความตาย เพื่อนำไปมอบให้สามีของเจ้าทรัพย์แล้วจำเลยบังอาจมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ที่เก็บรักษาไว้นั้นเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยเสีย ดังนี้ แม้จะไม่มีคำว่าจำเลยได้รับมอบหมายทรัพย์ ก็พอถือได้ว่าเป็นการรับมอบหมายโดยปริยาย ต้องตามตัวบทในมาตรา 314 แห่ง ก.ม.ลักษณะอาญาแล้ว และในกรณีเช่นนี้สามีย่อมเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เก็บรักษาเงิน๖๖๕๐ บาท อันเป็นทรัพย์ของนางเสมอใจ ซึ่งตกรถยนต์และถึงแก่ความตาย เพื่อนำไปมอบให้นายดวงสามีของนางเสมอใจแล้วจำเลยบังอาจมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงิน ๖๖๕๐ บาท ของนางเสมอใจนั้นเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยเสียขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๑๔
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยเป็นผู้รักษาเงินอันเป็นทรัพย์ของนางเสมอใจ ผู้ตาย เพื่อนำไปให้นายดวงสามีนางเสมอใจนั้น พอถือได้ว่าเป็นการรับมอบหมายโดยปริยาย ต้องตามตัวบท ซึ่งโจทก์อ้างท้ายฟ้องแล้ว ถ้าเงินจำนวนนี้เป็นของนางเสมอใจจริง นายดวงก็เป็นผู้รับมรดกนางเสมอใจ ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่จะร้องทุกข์ได้ แต่ศาลชั้นต้นยังหาได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงจึงให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไป โดยพิพากษาใหม่