คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2605/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมผู้คัดค้านเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ต่อมาผู้คัดค้านนำรถยนต์คันดังกล่าวไปเข้าไฟแนนซ์ที่บริษัท ว. ด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่บริษัท ว. แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ว. กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกเป็นของบริษัท ว. แม้ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางทะเบียน เพราะรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ด้วยเพียงการส่งมอบ และผู้ที่จะนำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 รถยนต์จึงมิใช่ทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) ได้
ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคท้าย ว่า บรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้ถูกตรวจสอบมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่ผู้คัดค้านโอนรถยนต์ของกลางให้แก่บริษัท ว. ยังอยู่ในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด จึงเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจตรวจสอบและยึดได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 22 วรรคห้า (3) เมื่อรถยนต์ของกลาง เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องสั่งริบตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2549 เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้คัดค้านและยึดได้เมทแอมเฟตามีน 80 เม็ด น้ำหนัก 7.77 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.088 กรัมกับอีก 12 เม็ด เป็นของกลาง ผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 9 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 361/2549 ของศาลชั้นต้น คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านพบว่า รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา ราคาประมาณ 220,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องจึงขอให้มีคำสั่งริบรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 4, 27, 28, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ให้แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และให้คืนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา แก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันพึงต้องริบหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด”
จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีมีได้เป็น 2 กรณี คือ จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินและแสดงให้ศาลเห็นว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม (1) กรณีหนึ่ง หรือตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ตาม (2) อีกกรณีหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความทั้งตามทางนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์วันที่ 2 เมษายน 2547 และวันที่ 18 กันยายน 2548 ผู้คัดค้านนำรถยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์ที่บริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด ด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่บริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด ในราคา 35,400 บาท ผ่อนชำระ 12 งวด งวดละ 2,950 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน แบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจ แล้วผู้คัดค้านผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา ตามหนังสือเตือนให้ชำระค่างวดเช่าซื้อ เห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านโอนรถยนต์ให้แก่บริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัดไปแล้ว กับทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด ดังกล่าว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกเป็นของบริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด แม้ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางทะเบียน เพราะรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ด้วยเพียงการส่งมอบและผู้ที่จะนำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 รถยนต์จึงมิใช่เป็นทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 (1) ได้ หากแต่ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีก็คือบริษัทวีระลิสซิ่ง จำกัด โดยอ้างว่าตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 (2) เท่านั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างตามคำคัดค้านของผู้คัดค้าน คงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องว่า คดีมีมูลว่า รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายสำเริง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบทรัพย์สิน ประกอบบันทึกถ้อยคำของผู้คัดค้าน ว่า ผู้คัดค้านมิได้ประกอบอาชีพที่มีรายได้ที่แน่นอนและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ที่อ้างว่าบิดาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้ในราคา 220,000 บาท ด้วยเงินสด ก็เป็นการอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐาน ฟังได้ว่าเป็นการได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต กับเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคท้าย ว่า บรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้ถูกตรวจสอบมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งการที่ผู้คัดค้านโอนให้แก่บริษัท วีระลิสซิ่ง จำกัด ก็ยังอยู่ในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด จึงเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจตรวจสอบและยึดได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 22 วรรคท้าย (3) พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงมีมูลว่า รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 4475 พะเยา เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share