แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา สิบตำรวจเอก ว. กับพวกมิได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าทำการตรวจค้นจับกุม ส. เป็นการตรวจค้นจับกุมในยามค่ำคืน บุคคลทั่วไปย่อมเกรงว่าผู้ที่เข้าตรวจค้นจับกุมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ ทั้งข้อหาที่ ส. กระทำความผิดก็เพียงมีเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดไม่ร้ายแรงนัก สิบตำรวจเอก ว. กับพวกมิได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยแสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดู การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ร่วมกันใช้กำลังผลักดันและกระชากแขนเจ้าพนักงานตำรวจเพียงเพื่อต้องการปกป้อง ส. ซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 1 ตามสมควร ไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ได้กระทำความผิด
เมื่อคดีฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 140 วรรคแรก คงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบ มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138, 140 นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1472/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง สิบตำรวจเอกวีระและสิบตำรวจตรีวีระพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบรบือกับพวกร่วมกันจับกุมนายสกุลเพชรซึ่งนอนอยู่บนเตียงผ้าใบ โดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมนายสกุลเพชรทุกคนมิได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยทั้งสามได้เข้าไปในที่เกิดเหตุระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าตรวจค้นและจับกุมนายสกุลเพชรทุกคนแต่งกายนอกเครื่องแบบ การเข้าตรวจค้นจับกุมบุคคลในยามค่ำคืนเช่นนี้บุคคลทั่วไปย่อมเกรงว่าผู้ที่เข้าตรวจค้นจับกุมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ โดยบุคคลอื่นอาจแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ นอกจากนั้นการตรวจค้นสิ่งของผิดกฎหมายในที่ซึ่งแสงสว่างไม่เพียงพอ อาจเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากผู้ตรวจค้นได้โดยง่าย เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมย่อมต้องแสดงตัวและทำการตรวจค้นอย่างเปิดเผยยิ่งกว่าการปฏิบัติในสถานการณ์ปกติทั่วไป เพื่อให้ผู้ที่ถูกตรวจค้นและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ระแวงสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจรู้จักนายสกุลเพชรดี ขณะเกิดเหตุพยานกับพวกเข้าทำการตรวจค้นจับกุมนายสกุลเพชรโดยกระทำการตรวจค้นในที่ที่มีแสงสว่างน้อยต้องใช้ไฟฉายช่วยส่องสว่าง แสดงว่าพยานกับพวกเข้าตรวจค้นจับกุมอย่างฉับพลันทันใดในเวลาฉุกละหุก ขณะตรวจค้นจับกุมนายสกุลเพชรอยู่นั้นเชื่อว่าพยานกับพวกมิได้แสดงตัวว่าพยานกับพวกเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยแสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดู การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าขัดขวางไม่ให้สิบตำรวจเอกวีระและสิบตำรวจตรีวีระพงษ์กับพวกซึ่งมิได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานกระทำต่อนายสกุลเพชรซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 พบเห็น ย่อมกระทำได้ตามสมควรเพื่อปกป้องนายสกุลเพชรจากภยันตรายหรือการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าจับกุมนายสกุลเพชรด้วยนั้น คำเบิกความของพยานโจทก์ปากสิบตำรวจตรีวีระพงษ์และสิบตำรวจเอกวีระแตกต่างกันรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้เท้าถีบสิบตำรวจตรีวีระพงษ์หรือเจ้าพนักงานตำรวจคนใดบ้าง ได้ความว่า ในที่เกิดเหตุมีประชาชนมุงดูเหตุการณ์หลายคน หากสิบตำรวจตรีวีระพงษ์ถูกบุคคลใช้เท้าถีบจริง อาจจะเป็นบุคคลอื่นซึ่งพยานโจทก์ไม่ได้สังเกตเห็นก็ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ร่วมกันใช้กำลังผลักดันและกระชากแขนเจ้าพนักงานตำรวจโดยมิได้ใช้เท้าถีบ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเพียงเพื่อต้องการปกป้องนายสกุลเพชรซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 1 ตามสมควร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อคดีฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรก คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุก 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4