คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 กล่าวหาจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 แต่ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บที่พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายทั้งสองให้แพทย์ตรวจทั้งสองฉบับที่โจทก์แนบท้ายคำฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุวันเกิดเหตุว่าเป็นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ในตอนท้ายยังระบุด้วยว่าต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 ได้ และวันที่ 1 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 มิใช่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 295, 371
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 และมาตรา 371 ประกอบมาตรา 80, 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มผู้เสียหายทั้งสอง และกลุ่มจำเลยทั้งสองมีเรื่องโต้เถียงกันในงานวันเกิดนายแจ๊ก ที่อพาร์ตเมนต์ในซอยพหลโยธิน 22 ต่อมาผู้เสียหายทั้งสองกับพวกได้กลับมาที่ห้องเช่าที่ผู้เสียหายทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ซอยรามคำแหง 24 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเดินลงจากห้องเช่าเพื่อไปหาอาหารรับประทาน เมื่อเดินมาถึงชั้นล่างพบกลุ่มของจำเลยทั้งสองกับพวก และบุคคลในกลุ่มของจำเลยทั้งสองใช้มีดฟันและแทงผู้เสียหายทั้งสอง โดยผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลที่บริเวณขาและหัวเข่า ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลถูกแทงที่อก สีข้างด้านซ้าย ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 กล่าวหาจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 แต่ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บที่พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายทั้งสองให้แพทย์ตรวจทั้งสองฉบับที่โจทก์แนบท้ายคำฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุวันเกิดเหตุว่าเป็นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ในตอนท้ายยังระบุด้วยว่าต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 ได้และวันที่ 1 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบวน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 มิใช่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามที่จำเลยทั้งสองฎีกามีว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดยผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การ ในวันรุ่งขึ้นทันทีหลังเกิดเหตุ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 หลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน ทั้งคำให้การดังกล่าวมีลักษณะสมเหตุผลไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใดโดยไม่เป็นความจริง จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองให้การไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนนายพงษ์พันธ์และนายปิยะพล แม้จะเป็นเพื่อนกับผู้เสียหายทั้งสอง แต่คำเบิกความของบุคคลทั้งสองก็ไม่มีลักษณะปรักปรำจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟส่องสว่าง พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าเห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีด ส่วนบุคคลอื่นไม่เห็นถืออาวุธอะไร โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 นายพงษ์พันธ์และนายปิยะพล ยังเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันที่บริเวณขาและเข่าผู้เสียหายที่ 1 อีกด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 แม้จะไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 ใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 2 แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วต่อเนื่องพยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 มีอาวุธมีดเพียงคนเดียว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดที่ถืออยู่ในมือดังกล่าวแทงผู้เสียหายที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์วิรุฬห์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายทั้งสองว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบ ลึกถึงชั้นไขมัน ยาวประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร ที่บริเวณต้นขาขวาและเข่าขวาด้านใน ประมาณ 3 แผล และต้นขาซ้ายเหนือเข่า 7 แผล พยานได้เย็บบาดแผลให้ ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 7 ถึง 10 วัน ส่วนผู้เสียหายที่ 2 นั้นบาดแผลที่ทรวงอก อยู่ใกล้ปอด เส้นเลือดแดงใหญ่ และหัวใจ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงแก่ชีวิตได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 นำอาวุธมีดจากหอพักในซอยพหลโยธิน 22 ไปที่เกิดเหตุ ยังเป็นความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกฐานหนึ่ง ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ตะโกนด่าและทำร้ายนายเก้ง ผู้เสียหายที่ 1 กระโดดเตะจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงใช้ขวดสุราขว้างใส่นั้นไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 นายพงษ์พันธ์ และนายปิยะพลเบิกความขัดแย้งกันนั้น เห็นว่า เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย ไม่มีลักษณะเป็นพิรุธแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองมาตั้งแต่ต้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายที่มีสาเหตุกันมาก่อนในงานเลี้ยงที่ซอยพหลโยธิน 22 มาพบกันและเกิดทำร้ายกันขึ้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองต่างคนต่างทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความจากคำเบิกความผู้เสียหายที่ 2 แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระชากผู้เสียหายที่ 2 ลงจากบันได แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกรุมกันกระทืบผู้เสียหายที่ 2 บาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้รับนอกจากถูกแทงด้วยมีดแล้วไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลจากการถูกกระทืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดเพียงฐานทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันชกต่อย เตะ ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 ประกอบมาตรา 80, 371 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โทษสำหรับจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share