แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๑/๒๕๕๕
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดระนอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดระนองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ นายสมมุ่ง ไชยทิพย์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอกระเปอร์ ที่ ๒ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ นายสุรชัย ทรัพย์ภิญโญ หรือนายพูลสวัสดิ์ ทรัพย์ภิญโญ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดระนอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๓๔/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๕ ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เนื้อที่ประมาณ ๖๘ ไร่ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ และได้ปลูกยางพารา มะม่วงหิมพานต์ ผักเหลียง และพืชผลอื่นๆ และปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นายอนุรักษ์ มณีศรี กับพวก ได้เข้าไปในที่ดินของโจทก์และตัดต้นยางพาราของโจทก์เป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๘๑ เลขที่ ๓๘๒ เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ โจทก์จึงยื่นฟ้องนายอนุรักษ์เป็นเรื่องละเมิดต่อศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดระนองมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๘๗/๒๕๕๓ ให้จำเลย (นายอนุรักษ์) ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ โจทก์ตรวจสอบพบว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ และเลขที่ ๓๘๒ มีชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน และ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ มีชื่อจำเลยที่ ๔ เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ ให้แก่นายมูล พิมพ์วงษ์ และออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๒ ให้แก่นางจิบ พิมพ์วงษ์ ซึ่ง น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ได้ออกทับที่ดินที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ ออกให้เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๘ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงนามใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิดังกล่าวทับที่ดินของโจทก์เป็นการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ส่วนนายมูลและนางจิบไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน และในการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว การชี้แนวเขตที่ดิน การประกาศหาผู้คัดค้าน จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ที่ดินข้างเคียงทราบซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย หากโจทก์ทราบย่อมต้องไประวังแนวเขตและคัดค้าน แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หาได้กระทำไม่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะปกปิด เป็นการออกในลักษณะไม่สุจริตและเป็นการปกปิดข้อมูลข่าวสารอันยากแก่การรับรู้ข้อเท็จจริง การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ใดๆ ในที่ดินพิพาทตั้งแต่รับโอนมา จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท แต่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน ย่อมมีสิทธิครอบครองดีกว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว หากไม่อาจเพิกถอนได้ขอให้เปลี่ยนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อของโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามากระทำการใดๆ ในที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิใดๆ ใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าว แต่นายมูลและนางจิบได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ที่ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ พร้อมได้นำเดินสำรวจไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ การที่โจทก์อ้างว่า ได้ครอบครองที่ดินแปลงพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จึงไม่เป็นความจริง และการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวไม่เป็นการออกทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่แปลงโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และเป็นผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ โจทก์อ้างว่า ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง จึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจยกการครอบครองขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างต่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต คำพิพากษาของศาลจังหวัดระนอง คดีหมายเลขแดงที่ ๘๗/๒๕๕๓ ที่โจทก์ฟ้องนายอนุรักษ์ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ นอกจากนี้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินและขอให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ วรรคสอง โจทก์ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง คือนับแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เป็นคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ และระหว่างพิจารณาปรากฏว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๔ ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดก่อนแล้ว ศาลจังหวัดระนองจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดระนองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ ให้แก่นายมูล พิมพ์วงษ์ และน.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๒ ให้แก่นางจิบ พิมพ์วงษ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับทับที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครอง โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้แจ้งเรื่องการรังวัดเพื่อออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวให้โจทก์ทราบเสียก่อน ทำให้โจทก์ไม่ได้คัดค้าน จึงเป็นการกระทำไปโดยมีลักษณะปกปิด ไม่สุจริตและเป็นการปกปิดข้อความข่าวสาร อันเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒
กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวไว้หรือไม่ ทั้งโจทก์ได้ยกเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องยืนยันว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างให้การปฏิเสธโต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับ โดยที่ดินพิพาทดังกล่าวมีนายมูลกับนางจิบเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นการโต้เถียงกันในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่นายมูลและนางจิบหรือไม่ เมื่อศาลพิจารณาคดีในประเด็นดังกล่าวแล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่า การออก น.ส. ๓ ก. ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจะบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้หรือไม่เพียงใด จึงเป็นกรณีมีข้อพิพาทกันเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิ การให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ดิน และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การออก น.ส. ๓ ก. เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง คดีนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออก น.ส. ๓ ก. กระทำการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ เลขที่ ๓๘๒ เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ ทั้งสี่ฉบับไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อโจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำดังกล่าว และมีคำขอให้ศาลเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ที่พิพาทดังกล่าว ให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามฟ้อง และห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามากระทำการใดๆ ในที่ดินพิพาท คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองและสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามากระทำการใดๆ ในที่ดินพิพาทได้ และกรณีที่โจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับและแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนคดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวหรือไม่นั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออก น.ส. ๓ ก. อันเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และถึงแม้ว่าการพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดได้บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลยุติธรรมที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งทั้งหมดหรือบางส่วนเหมือนดังเช่นที่บัญญัติให้อำนาจศาลปกครองไว้ในมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชน โดยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๕ ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เนื้อที่ประมาณ ๖๘ ไร่ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ และได้ปลูกพืชผลต่างๆ และปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นายอนุรักษ์ มณีศรี กับพวก ได้เข้าไปในที่ดินของโจทก์และตัดต้นยางพาราของโจทก์เป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงยื่นฟ้องนายอนุรักษ์เป็นเรื่องละเมิดต่อศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดระนองมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๘๗/๒๕๕๓ ให้จำเลย (นายอนุรักษ์) ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ โจทก์ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ได้ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ ให้แก่นายมูล พิมพ์วงษ์ และออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๒ ให้แก่นางจิบ พิมพ์วงษ์ โดยออกทับที่ดินที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงนามใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ และเลขที่ ๓๘๒ มีชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน และ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๙๙ และเลขที่ ๔๐๐ มีชื่อจำเลยที่ ๔ เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิดังกล่าวทับที่ดินของโจทก์เป็นการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้แจ้งเรื่องการชี้แนวเขตที่ดินและการประกาศหาผู้คัดค้านให้โจทก์ทราบ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว หากไม่อาจเพิกถอนได้ขอให้เปลี่ยนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อของโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามากระทำการใดๆ ในที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิใดๆ ใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่เป็นการออกทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และเป็นผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครอง โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกการครอบครองขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างต่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสมมุ่ง ไชยทิพย์ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอกระเปอร์ ที่ ๒ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ นายสุรชัย ทรัพย์ภิญโญ หรือนายพูลสวัสดิ์ ทรัพย์ภิญโญ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน