แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์โดยแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิด และให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 21,481,080 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2539 จนถึงวันฟ้อง จำนวน 7,921,148.25 บาท รวมเป็นเงิน 29,402,228.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 21,481,080 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะคืนหรือชดใช้เงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 21,481,080 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนาย ความเป็นเงิน 15,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในการคืนเงินตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยบรรยายฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 3 ไว้ชัดเจนว่า “เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ได้ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์ โดยแจ้งต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก…” และบรรยายฟ้องในข้อ 4 ว่า ” จากการกระทำของจำเลยทั้งสองตามข้อ 2 เป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย… จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิยึดถือไว้นั้นพร้อมดอกเบี้ย… ” ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิดและให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 ซึ่งในปัญหาเรื่องละเมิดนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองก็นำสืบข้อเท็จจริงได้ความตรงกันว่า ภายหลังจากทำสัญญาขายผ้าให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อโจทก์นี้ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในช่องผู้โอน โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่า ทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 อันเป็นวันก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้างวดที่ 1 ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีนายอนุศักดิ์ ซึ่งทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานบัญชีที่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) อยู่ในขณะนั้นมาเบิกความยืนยันว่า ในวันที่ 19 สิงหาคม 2539 นั้นเอง หลังจากบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 แล้ว พยานก็ได้นำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปส่งให้กองพลาธิการ กรมตำรวจ (ชื่อส่วนราชการของโจทก์ในขณะนั้น) โดยมีพันตำรวจโทบรรจง เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับหนังสือบอกกล่าวไว้และในขณะนั้นจำเลยที่2 ก็อยู่ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปพร้อมกับพยานซึ่งความในข้อนี้จำเลยที่ 2 เองก็มิได้ปฏิเสธโดยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเพียงว่าในวันที่นายเรืองกิตต์ กับนายอนุศักดิ์ นำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปติดต่อที่กองพลาธิการ กรมตำรวจ จำเลยที่ 2 จำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไปด้วยหรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจด้วยจริง จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่ 1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสารหรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นางสถาพร พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีกดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์