แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง “หนุ่มดอย” ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า “ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า “แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า “ลา ลันลา” ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง “เด็กดอยใจดี” ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา… ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา” และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า “ลา ลันลา” ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า “แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” ในท่อนสร้อยและคำว่า “ลา ลันลา” ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามหยุดการผลิต หยุดใช้ หยุดจำหน่าย หยุดการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในงานอันกระทำขึ้นด้วยการมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทุกประเภท และเก็บสินค้าของจำเลยทั้งสามที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่เก็บสินค้าที่กระทำขึ้นด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนจำเลยทั้งสาม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 33,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันที่ 13 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปทุกเดือนจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นและจนกว่าจะหยุดกระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ 13 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้จำเลยทั้งสามยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงของโจทก์ตามคำฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายขุนกลาง ซึ่งเป็นบุตรโจทก์เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจัดจำหน่ายสิ่งบันทึกเสียง สิ่งบันทึกเสียงและภาพทุกประเภท จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอเลิกบริษัท นายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โดยนางกิตต์ยาใจเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเลิกบริษัทและสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งการฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทหรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อประมาณต้นปี 2542 โจทก์สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมทั้งทำนองและคำร้องเพลง “หนุ่มดอย” ต่อมาเมื่อประมาณกลางปี 2546 โจทก์รวบรวมเพลงต่าง ๆ ที่โจทก์สร้างสรรค์รวมทั้งทำนองและคำร้องเพลง “หนุ่มดอย” เป็นอัลบัมชุด “ขอใจอ้ายคืน” และให้นายวัชระ หรือเก่ง วัชระ เป็นผู้ขับร้องเพลงในชุดดังกล่าวโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมการผลิตและโจทก์ได้บันทึกเพลงในชุด “ขอใจอ้ายคืน” ลงในสิ่งบันทึกเสียงในรูปเทปคาสเซต แผ่นซีดี แผ่นวีซีดีคาราโอเกะแล้วนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในทำนองและคำร้องเพลง “หนุ่มดอย” โจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์เพลง “หนุ่มดอย” ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงทำนองและคำร้องเพลง “หนุ่มดอย” เป็นเพลง “เด็กดอยใจดี” ภายในกำหนดอายุความ 3 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองและคำร้องเพลง “หนุ่มดอย” ซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเพลง “เด็กดอยใจดี” โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงดนตรีกรรมเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ เพราะการแต่งเพลงเด็กดอยใจดีมิได้มีการคัดลอกทำนองและเนื้อร้องเพลงหนุ่มดอยมาทั้งเพลง จำเลยที่ 3 เป็นผู้สร้างสรรค์คำร้องคำว่า “แครอต” และ “แก้มของเธอจะแดง” ในเพลงเด็กดอยใจดี การที่จำเลยที่ 3 บอกกล่าวให้โจทก์รับรู้ว่าจะนำคำว่า “แครอต” ในเพลงหนุ่มดอยมาประพันธ์เพลงใหม่ให้เด็กร้องไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงหนุ่มดอยและไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 รับว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ถ้อยคำต่าง ๆ ที่อยู่ในท่อนสร้อยของเพลงหนุ่มดอยแต่ผู้เดียว การขออนุญาตจากโจทก์และลงข้อความขอบคุณที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโจทก์บนแผ่นหลังปกหน้าของแผ่นวีซีดีเพลงนั้น ในวงการนักแต่งเพลงเป็นการให้เกียรติในฐานะเกี่ยวข้องด้วยกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอยเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อมีข่าวเรื่องการแย่งลิขสิทธิ์เพลงกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่เคยติดต่อมาด้วยตนเองหรือมีหนังสือโต้แย้งสิทธิมาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จนกระทั่งโจทก์เห็นว่าเพลงเด็กดอยใจดีที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์มีชื่อเสียง จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพลงเด็กดอยใจดีเป็นเพลงที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์ขึ้นใหม่และจำเลยที่ 3 ได้โอนลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้าง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีลิขสิทธิ์ในเพลงเด็กดอยใจดีโดยสมบูรณ์ ในปัญหานี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า “ดนตรีกรรม” ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว ดังนี้ งานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งลำพังเพียงคำร้องอย่างเดียว แต่ไม่มีทำนองแม้แต่จะแต่งคำร้องนั้นขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องก็ไม่อาจถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมตามบทนิยามดังกล่าวได้ ที่จำเลยทั้งสามให้การว่า เพลงหนุ่มดอยของโจทก์ในอัลบัมชุด “ขอใจอ้ายคืน” ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อประมาณกลางปี 2542 แต่เพลงหนุ่มดอยไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเพลงเด็กดอยใจดีซึ่งขับร้องโดยเด็กหญิงชลนิภา หรือน้องมายต์ ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนกลับได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถจำหน่ายเทปคาสเซตเพลงเด็กดอยใจดีได้เป็นจำนวนมากจึงถือโอกาสฟ้องคดีนี้และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า คุณค่าของงานมิใช่เงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ และผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเสร็จ ดังนั้น งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ในปัญหาว่า จำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเพลงเด็กดอยใจดีโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากคำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งเพียงว่าท่อนสร้อยในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มิใช่สาระสำคัญของเพลงหนุ่มดอยเพราะท่อนสร้อยของเพลงหนุ่มดอยมิได้รับความนิยมจากประชาชนเท่านั้น มิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ปรากฏว่าทำนองเพลงและคำร้องท่อนสร้อยในเพลงหนุ่มดอยกับเพลงเด็กดอยใจดีมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อยดังกล่าว ทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจึงเป็นส่วนสาระสำคัญของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดี ประกอบกับจำเลยที่ 3 ก็นำสืบรับว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมแต่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ด้วยโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้นำเอาคำว่า “แครอต” และ “แก้มของเธอจะแดง” มาใส่ไว้เพลงหนุ่มดอย เมื่อต้นเดือนเมษายน 2547 จำเลยที่ 3 ได้พูดกับโจทก์ขอใช้คำว่า “แครอต” ในการประพันธ์เพลงใหม่โดยให้เด็กขับร้องซึ่งโจทก์ก็ไม่ขัดข้อง จำเลยที่ 3 จึงคัดเลือกนักร้องคือเด็กหญิงชลนิภาหรือน้องมายต์ให้มาร้องเพลงเด็กดอยใจดี แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงหนุ่มดอยเฉพาะส่วนที่เป็นคำร้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมแต่งทำนองเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ด้วย จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงหนุ่มดอยขึ้นเองทั้งหมดตั้งแต่ปี 2542 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะแต่งเพลงเด็กดอยใจดีเมื่อปี 2547 ซึ่งในคำให้การของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็ให้การโต้แย้งเฉพาะคำร้องในท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีที่ว่า “ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา…ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา” นั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งขึ้นเองมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงท่อนสร้อยมาจากเพลงหนุ่มดอยที่ว่า “ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” เท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ให้การโต้แย้งว่าจำเลยที่ 3 มิได้ทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นทำนองเพลงเด็กดอยใจดีแต่อย่างใด ทั้งคำร้องในท่อนสร้อยซึ่งเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเพลงทั้งสองดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นก็มีคำร้องความว่า “ผมเอาแครอตมาฝาก” และ “แก้มของเธอจะแดง” เหมือนกัน ส่วนข้อความอื่นในท่อนสร้อยของเพลงทั้งสองนั้นก็มีสาระสำคัญเช่นเดียวกันว่า เมื่อเธอกินแครอตที่เอามาฝากแล้วจะแข็งแรง ที่จำเลยที่ 3 ให้การและนำสืบว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำเพลงเด็กดอยใจดีไปให้นายวัชระหรือเก่งขับร้องในอัลบัมชุด “ขอใจอ้ายคืน” เพราะเพลงเด็กดอยใจดีเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเอื้ออาทรของเด็ก ๆ ชาวเขาชาวดอยในแถบภาคเหนือตอนบนโดยนำไปให้เด็กหญิงชลนิภาหรือน้องมายต์ขับร้องนั้นก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะในคำร้องเพลงเด็กดอยใจดียังใช้คำร้องความว่า “ผมเอาแครอตมาฝาก” เช่นเดียวกับในเพลงหนุ่มดอย โดยมิได้นำเด็กผู้ชายมาขับร้องท่อนสร้อยนี้แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 3 ทราบทำนองและคำร้องของเพลงหนุ่มดอยเป็นอย่างดีเพราะจำเลยที่ 3 ช่วยแต่งคำร้องในเพลงนั้นด้วยและจำเลยที่ 3 มิได้ให้การโต้แย้งว่าทำนองเพลงเด็กดอยใจดีแตกต่างจากทำนองเพลงหนุ่มดอย ประกอบกับทำนองเพลงในตอนท้ายของท่อนสร้อยที่ว่า “ลาลันลา” มีอยู่ทั้งเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ใช้ทำนองเพลงหนุ่มดอยและคำร้องเพลงนี้ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญเป็นต้นแบบในการแต่งทำนองและคำร้องเพลงเด็กดอยใจดีโดยการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ขออนุญาตจากโจทก์ใช้คำว่า “แครอต” ในการแต่งคำร้องเพลงเด็กดอยใจดีเท่านั้น แต่มิได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้และดัดแปลงทำนองเพลงหนุ่มดอยในการแต่งทำนองและคำร้องเพลงเด็กดอยใจดีด้วย การที่จำเลยที่ 3 แต่งเพลงเด็กดอยใจดีโดยทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ส่วนที่จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ลอกเลียนหรือดัดแปลงทำนองเพลงหนุ่มดอยมาจากเพลง “STONEY” ของศิลปินต่างประเทศชื่อ “LOBO” โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในท่อนสร้อยเพลงหนุ่มดอยนั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ว่า โจทก์มิได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงหนุ่มดอยขึ้นเองโดยได้ดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์นำทำนองเพลง “STONEY” ส่วนใดเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญหรือไม่มาดัดแปลงและโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แต่งเพลง “STONEY” ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของต่างประเทศที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ให้ความคุ้มครองหรือไม่ โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในทำนองและคำร้องเพลงหนุ่มดอยอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์แต่งขึ้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องกับซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะอัลบัมชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” ที่มีเพลงเด็กดอยใจดีบันทึกไว้ ซึ่งจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าซีดีเพลง สิ่งบันทึกเสียง และวีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองและข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ขายปลีก ขายส่ง ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ รวมถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ใดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ตลอดจนให้บริการจัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและหรือเสียงด้วยเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์นั้น ส่วนบริษัทจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจัดสร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รับจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองเพลง งานแพร่เสียงแพร่ภาพแทนผู้ผลิตในสื่อทุกชนิดให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ และจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 3 ทำสัญญารับจ้างประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ประพันธ์เพลงจำนวน 9 เพลง ซึ่งมีเพลงเด็กดอยใจดีรวมอยู่ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าจ้างประพันธ์เพลงจำนวนเพลงละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 45,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบด้วยว่า ท่อนสร้อยของเพลงหนุ่มดอยไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน จึงทำให้เพลงหนุ่มดอยในเทปอัลบัมชุด “ขอใจอ้ายคืน” ที่ได้มีการนำออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2542 ไม่ได้รับความนิยมต้องยุติการจำหน่ายตั้งแต่ปี 2545 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะมาว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้แต่งเพลงให้ 1 ชุด จำนวน 9 เพลง ซึ่งรวมกับเพลงเด็กดอยใจดีที่เป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งกับเพลงพ่อแม่เปลี่ยนไป๋ในอัลบัมชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยที่โจทก์ประพันธ์ในอัลบัมเทปเพลงชุด “ขอใจอ้ายคืน” ไม่ประสบผลสำเร็จในด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบธุรกิจร่วมกันและเป็นบริษัทในเครือเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงเพลงและภาพยนตร์และจำเลยที่ 2 รับจัดจำหน่ายสิ่งบันทึกเสียงเพลงและภาพยนตร์นั้นจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้แต่งเพลงเด็กดอยใจดีเป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งในอัลบัมเพลงชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” เพราะจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์และต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยเป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิงชลนิภาหรือน้องมายต์ขับร้องโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ฟังเพลงเด็กดอยใจดีที่เด็กหญิงชลนิภาขับร้องแล้วพอใจ และเชื่อว่าหากได้บันทึกเสียงเพลงเด็กดอยใจดีเป็นซีดีออกจำหน่ายจะประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด จำเลยที่ 1 จึงลงทุนผลิตสิ่งบันทึกเสียงเพลงเด็กดอยใจดีในอัลบัมเพลงชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” เป็นซีดีและวีซีดีโดยให้จำเลยที่ 2 จัดจำหน่าย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยทำซ้ำและดัดแปลงเพลงดังกล่าวเป็นเพลงเด็กดอยใจดี ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซึ่งซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะอัลบัมเพลงชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” ซึ่งมีเพลงเด็กดอยใจดี จึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์ออกขายอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีกับจำเลยที่ 3 ด้วยย่อมฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าโจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ด่าว่า เกลียดชัง และถูกกล่าวหาด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนทั่วไปสับสนหลงผิดว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์กับเพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยทั้งสามเป็นของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 1,000,000 บาท นั้น ในข้อนี้ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า “การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียหายทางด้านชื่อเสียงในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยโจทก์ขอคิดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามเริ่มนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพ และริงก์โทนดาวน์โหลดต่าง ๆ ออกจำหน่ายต่อบุคคลทั่วไปถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 30,000,000 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 30,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้อยู่แล้วว่างานเพลงเด็กดอยใจดีได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องเป็นเวลา 584 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,600,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน 33,600,000 บาท จากคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียงในเชิงการประกอบธุรกิจนั้นไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะเรียกร้องจากจำเลยทั้งสามผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์คดีนี้ได้ก็มีเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เท่านั้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สำหรับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ซึ่งอ้างว่าได้แก่ คำบอกกล่าวทวงถาม ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนั้น เป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายเพื่อรักษาประโยชน์ตามสิทธิที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่เท่านั้น มิใช่ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดยตรงที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสามได้ เพราะความจริงโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท หาใช่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพื่อรักษาประโยชน์ตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นตามปกติไม่ เนื่องจากสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วตราบใดที่ไม่ถูกละเมิดโจทก์ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสิทธิ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับแทนสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงด้วย” ดังนี้ แม้ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถาม ค่าทนายความจากสัญญาจ้างว่าความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายเพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดยตรงก็ตาม แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนที่จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นด้วย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ค่าจ้างทนายความตามสัญญาว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าว และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงหนุ่มดอย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในข้อนี้ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์เพียงว่า โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์อันได้แก่ ค่าบอกกล่าวทวงถาม ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท โดยโจทก์มิได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามและในการดำเนินคดี รวมทั้งมิได้แสดงเอกสารสำคัญว่าจ้างทนายความให้ว่าความและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามสมควรเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ได้วินิจฉัยข้างต้นจำนวน 5,420,000 บาท แล้ว รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 5,720,000 บาท
ที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายขอให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่จำเลยทั้งสามทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะคุ้มครองสิทธิของตนในลักษณะนี้ได้ นอกจากนี้แม้จะถือว่าการขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเก็บซีดีเพลงและวีซีดีเพลงเด็กดอยใจดีอัลบัมชุด “น้องมายต์ป่วนเมือง” ที่จำเลยทั้งสามทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ซึ่งอาจจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 บัญญัติให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่บทบัญญัติมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะในคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่ง โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่จำเลยทั้งสามทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รวมจำนวน 720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ 13 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่จำเลยทั้งสามทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง