คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13788/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอลดหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว ผู้ประกันได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งแก่ผู้ประกันและผู้ประกันยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงเป็นการยื่นไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย
ส่วนที่ผู้ประกันขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่งกรณีของดหรือลดค่าปรับไปในคราวเดียวกันนี้ด้วยนั้น เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ฉะนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะพิจารณาและมีคำสั่งอุทธรณ์คำสั่งของผู้ประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไป ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ของผู้ประกันได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 120 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8, 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 360 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 5, 12, 50, 63 และริบรถขุดตัก (แบ็กโฮ) เรือดูดทรายและท่อเหล็กของกลาง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงให้แยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 8 เดือน กับให้ริบรถขุดตัก (แบ็กโฮ) เรือดูดทรายและท่อเหล็ก ของกลาง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกัน ประกันตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในชั้นอุทธรณ์โดยผู้ประกันทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า ผู้ประกันจะส่งตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล มิฉะนั้น ผู้ประกันยอมรับผิดในกรณีไม่อาจส่งตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ เป็นเงินคนละ 100,000 บาท ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกัน โดยไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และปรับผู้ประกันเป็นเงิน 300,000 บาท กับนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ 1 วัน ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้ลดหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกัน ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้งดหรือลดค่าปรับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกัน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ประกันโดยอ้างว่า ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์คำสั่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอลดหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว ผู้ประกันได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งแก่ผู้ประกันจนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2551 และผู้ประกันยื่นอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 28 มีนาคม 2551 นั้นเอง จึงเป็นการยื่นไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ประกันโดยเหตุว่าผู้ประกันยื่นอุทธรณ์คำสั่งล่วงเลยระยะเวลาที่จะอุทธรณ์ได้แล้วจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ประกันฟังขึ้น ส่วนที่ผู้ประกันขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่งกรณีของดหรือลดค่าปรับไปในคราวเดียวกันนี้ด้วยนั้นเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ฉะนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะพิจารณาและมีคำสั่งอุทธรณ์คำสั่งของผู้ประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไป ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ของผู้ประกันได้
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share