คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8706/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนองมาจากนาย ก. สืบเนื่องมาจากการรับมรดก จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาย ก. กล่าวคือต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแทนนาย ก. หาใช่เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่อย่างใด กรณีของจำเลยทั้งห้าจึงมิต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 735 ที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กึ่งหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า นายโกมินทร์ได้รับเงินกู้ไปตามสัญญาเพิ่มวงเงินจำนองทั้งสี่ครั้งหรือไม่ โดยจำเลยทั้งห้าฎีกาว่า โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ทบเข้ากับต้นเงินกู้ในการขึ้นวงเงินจำนองแต่ละครั้งโดยนายโกมินทร์ไม่ได้รับเงินไปจากโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งศาลฎีกาได้พิเคราะห์ลายมือชื่อของโจทก์ในรายการคำนวณดอกเบี้ยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อโจทก์ในเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แล้วเห็นว่ามีลักษณะการเขียนคล้ายกัน ประกอบกับโจทก์มิได้มาปฏิเสธลายมือชื่อดังกล่าว จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อดังกล่าวไว้ พยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านายโกมินทร์กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 1,500,000 บาท ส่วนการขึ้นวงเงินจำนองแต่ละครั้งเป็นการนำเอาดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมารวมคำนวณเพิ่มวงเงิน ส่วนของดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ
มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินมาจากนายโกมินทร์ โจทก์จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งห้าล่วงหน้า 1 เดือนนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งห้าเป็นบุตรของนายโกมินทร์ จำเลยทั้งห้ารับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากนายโกมินทร์สืบเนื่องมาจากการรับมรดกจึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนายโกมินทร์กล่าวคือต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแทนนายโกมินทร์ หาใช่เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์จำนองแต่อย่างใด กรณีของจำเลยทั้งห้าจึงมิต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ที่โจทก์ในฐานะผู้จำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน แต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จึงต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าวจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share