แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เงินทอน 10 บาท ของกลางที่สายลับใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 102
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2553)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 194 เม็ด หนัก 17.46 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไป 5 เม็ด โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและเงินเหรียญ 10 บาท ซึ่งจำเลยใช้ทอนเป็นของกลาง จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7649/2540 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลางและนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8057/2543 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประพันธ์ ดาบตำรวจอนันต์และจ่าสิบตำรวจนพดลเบิกความเป็นพยานว่า ร้อยตำรวจเอกประพันธ์ทราบจากสายลับว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงร่วมกับพวกวางแผนล่อซื้อจับจำเลยโดยขอหมายค้นจากศาลชั้นต้น และได้ใช้สายลับไปล่อซื้อจากจำเลย สายลับได้นำธนบัตร 100 บาท 1 ฉบับ 20 บาท 8 ฉบับ ที่ร้อยตำรวจเอกประพันธ์ได้ถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้ไปล่อซื้อ จากนั้นสายลับได้นำเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด พร้อมเหรียญ 10 บาท 1 เหรียญ ไปมอบให้ร้อยตำรวจเอกประพันธ์แจ้งว่าซื้อมาจากจำเลย ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ปฏิเสธฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันเป็นขั้นตอนและมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นประกอบ กล่าวคือ มีการขอหมายค้นและนำธนบัตรไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้ก่อนที่จะล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอก (ยศขณะเบิกความ) ศิลาพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยให้การรับสารภาพฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ปฏิเสธฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลย หากจำเลยมิได้กระทำความผิดจริง จำเลยคงมิได้ให้การเช่นนั้น นอกจากนี้จำเลยยังเคยกระทำความผิดในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด ให้แก่สายลับจริง ที่จำเลยอ้างว่าให้การรับสารภาพฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะกลัวเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีนางสาวสุดารัตน์ บุตรี นั้น ขัดต่อเหตุผลทั้งนี้ เพราะหากเจ้าพนักงานตำรวจต้องการที่จะใส่ร้ายจำเลยจริงก็น่าจะระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นข้อหาที่หนักกว่า แทนที่จะให้รับสารภาพเฉพาะฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจำเลยสามารถดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวได้ แต่จำเลยหาได้กระทำไม่ จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง แต่หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ใหม่ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ลงโทษแก่จำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับเงินทอน 10 บาท ของกลาง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5