คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลผู้เสียหาย มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิ.อ. ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการ โดยไม่มีการวางท่อระบายน้ำตามสัญญาและไม่มีการแก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความในเอกสาร จึงไม่มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1)
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมงานและกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจและควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแต่ละโครงการ เมื่องานในแต่ละโครงการทำไม่เสร็จครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 กลับลงลายมือชื่อในใบควบคุมงานและเอกสารการตรวจการจ้างเป็นเท็จว่ามีการทำงานถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 162 (1)
โจทก์แยกฟ้องคดีเป็นแปดสำนวนและมิได้ขอให้นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกัน แม้จะรวมการพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งแปดสำนวนเข้าด้วยกัน ก็นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งแปดสำนวนว่าโจทก์ เรียกนายฉลวย ว่าจำเลยที่ 1 นายจิตร ว่าจำเลยที่ 2 นายทิม ว่าจำเลยที่ 3 นายวรเทพ ว่าจำเลยที่ 4 นายแต้ม ว่าจำเลยที่ 5 นายภาณุ ว่าจำเลยที่ 6 นายอานันท์ ว่าจำเลยที่ 7 และนายอรรถวุฒิ ว่า จำเลยที่ 8
โจทก์ทั้งแปดสำนวนฟ้องและแก้ไขฟ้องเป็นใจความว่า โดยจำเลยทุกคนมีเจตนาสมคบร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและสมคบร่วมกันทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 83
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี แต่การกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การนำสืบของจำเลยทั้งแปดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 7 และที่ 8 คนละ 3 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ทุกข้อหาและทุกสำนวน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ 157 ในสำนวนที่ 1 และที่ 8 หรือไม่ ปัญหานี้สำหรับความผิดด้วยการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดหรือการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) นั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความในเอกสารหรือเป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือผู้กระทำความผิดอื่น จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 162 (1) ไม่ได้ ส่วนความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารผู้เสียหายมีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการที่ 1 และโครงการที่ 3 (สำนวนที่ 1 และที่ 8) โดยในสองโครงการนี้ไม่มีการวางท่อระบายน้ำตามสัญญาและไม่มีการแก้สัญญาทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายและโจทก์มีนางสายใจ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารผู้เสียหายต่อจากจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ที่เคยเข้ารับจ้างทำงานในโครงการตามที่มีปัญหานี้ด้วยเบิกความว่า ไม่มีการวางท่อระบายน้ำเพราะมีท่อระบายน้ำเดิมอยู่ที่ถนนที่จะวางท่ออยู่แล้ว และพยานได้แจ้งให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลผู้เสียหายทราบด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าโครงการที่ 1 และที่ 3 ที่ไม่มีการวางท่อระบายน้ำตามสัญญาจริง เนื่องจากประชาชนขอเปลี่ยนแปลงเป็นการลงหินคลุกแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รู้ดีว่าโครงการที่ 1 และโครงการที่ 3 ผู้รับจ้างไม่ได้วางท่อระบายน้ำตามสัญญาจริงและยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาแต่อย่างใด แต่เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการบริหารผู้เสียหาย มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 65 มีหน้าที่บริหารกิจการของผู้เสียหายให้เป็นไปตามมติข้อบังคับและแผนพัฒนาตำบลและรับผิดชอบการบริหารกิจการของผู้เสียหาย กลับอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการที่ 1 และที่ 3 ให้แก่ผู้รับจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานโดยฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งจึงฟังได้ตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมงานก่อสร้างไว้ในข้อ 49 ว่า ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้น ๆ ทุกวัน ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ…และกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้างไว้ในข้อ 48 ว่า ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงานโดยตรวจสอบกับแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาทุกสัปดาห์…จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะเป็นกรรมการควบคุมงานก็ดีหรือในฐานะกรรมการตรวจการจ้างก็ดีย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจและควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาทุกประการและปรากฏข้อเท็จจริงว่า โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบควบคุมหรือตรวจการจ้างโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แต่ละคนดังกล่าวล้วนทำไม่เสร็จครบถ้วนตามสัญญาทุกโครงการ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการควบคุมงานหรือกรรมการตรวจการจ้างกลับลงลายมือชื่อในเอกสารใบควบคุมงานและเอกสารการตรวจการจ้างเป็นเท็จว่ามีการทำงานในโครงการดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) ที่ยุติแล้วดังกล่าวมาข้างต้น จึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยแยกฟ้องเป็นแปดสำนวน ซึ่งคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกันจึงนับโทษต่อกันไม่ได้ แม้ศาลจะรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งแปดสำนวนเข้าด้วยกันก็ตามเพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยแต่ละสำนวนจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดสำนวนแรกและสำนวนที่ 8 จำคุกสำนวนละ 1 ปี และปรับสำนวนละ 6,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งมีความผิดตาม มาตรา 162 (1) กับ มาตรา 157 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดโทษให้จำเลยทุกคนหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกสำนวนละ 8 เดือนและปรับสำนวนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share