แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…” ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่
ฟ้องของโจทก์คดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ล้วนเป็นฟ้องที่โจทก์อ้างสิทธิในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมตามสัญญาว่าจ้างโจทก์พัฒนาโครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง เพียงแต่โจทก์แยกฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมแต่ละเดือนเป็นคดีไป คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนมีนาคม 2548 และเดือนเมษายน 2548 อันเป็นการอ้างสิทธิของโจทก์ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ฟ้องทั้งสามคดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้อง คดีแรกคือ คดีหมายเลขดำที่ 890/2550 และคดีที่สองคือคดีหมายเลขดำที่ 1417/2550 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ขณะนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเดือนเมษายน 2548 ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างและนำมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้แล้ว ข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2548 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะต้องฟ้องรวมกันมาเสียทีเดียว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 368,820.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 321,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์จัดการพัฒนา โครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง คือสัญญาว่าด้วยการจัดการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยหัวหิน ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 สัญญาว่าด้วยการจัดการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยคอนโดมิเนียม (เอแบค) ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 และสัญญาว่าด้วยการจัดการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยซอยสุขุมวิท 31 ลงวันที่ 4 มกราคม 2548 โดยกำหนดค่าธรรมเนียม (ค่าจ้าง) รายเดือน เดือนละ 200,000 บาท 100,000 บาท สำหรับ 4 เดือนแรก และ 200,000 บาท นับแต่เดือนที่ห้าเป็นต้นไป และ 200,000 บาท ตามสัญญาแต่ละฉบับตามลำดับ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นให้ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทั้งสามสัญญา จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณา คดีฝ่ายเดียว และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ตามคดี หมายเลขดำที่ 890/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 สำหรับค่าธรรมเนียมเดือนมีนาคม 2548 ทั้งสามสัญญา โจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ตามคดีหมายเลขดำที่ 1417/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกัน รื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…” ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมี คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวนี้จึงอยู่ระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามมิให้ฟ้องตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดี คือคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 และคดีนี้ ล้วนเป็นฟ้องที่โจทก์อ้างสิทธิในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ชำระหนี้ค่าธรรมเนียมตามสัญญาว่าจ้างโจทก์พัฒนาโครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ เพียงแต่โจทก์แยกฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมแต่ละเดือนเป็นแต่ละคดีไปคือ เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนมีนาคม 2548 และเดือนเมษายน 2548 อันเป็นการอ้างสิทธิของโจทก์ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ฟ้องทั้งสามคดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีแรกคือคดีหมายเลขดำที่ 890/2550 และคดีที่สองคือหมายเลขดำที่ 1417/2550 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ขณะนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเดือนเมษายน 2548 ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ดังที่โจทก์กล่าวอ้างและนำมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้แล้ว ข้อหาของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2548 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะต้องฟ้องรวมกันมาเสียทีเดียว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้