คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ , 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371 ริบลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ส่วนอาวุธปืนหมายเลขทะเบียน กท 39133295 ขอให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามฆ่านายอาจิมต์ จำคุก 13 ปี 4 เดือน ฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจโทณรงค์ จำคุก 13 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 1 จำคุก 13 ปี 4 เดือนสำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษในส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 27 ปี 5 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 14 ปี 10 เดือน ริบลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ส่วนอาวุธปืนหมายเลขทะเบียน กท 39133295 ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่านายอาจิมต์ และฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจโทณรงค์ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 ปี 10 เดือน 20 วัน รวมโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมจำคุก 16 ปี 29 เดือน 40 วัน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ….พิเคราะห์ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงนายอาจิมต์ และสิบตำรวจโทณรงค์ เป็นการกระทำโดยป้องกันที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 นำสืบและฎีกาอ้างว่า เหตุป้องกันตัวเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไปพูดห้ามมิให้ส่งเสียงดังในการเล่นการพนันจึงถูกนายสุชาติ แทงแล้วจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อมิให้ญาติของนายสุชาติเข้ามารุมทำร้าย หลังจากนั้นจึงมีการยิงต่อสู้กับนายอาจิมต์และสิบตำรวจโทณรงค์ ดังนั้น จึงต้องวินิจฉัยว่า มีข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 อ้างหรือไม่ สำหรับปัญหานี้ศาลต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนว่าควรฟังเพียงใดหรือไม่ มิใช่พยานเบิกความอย่างไรแล้วจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความเสมอ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสุชาติได้ใช้อาวุธมีดแทงจำเลยที่ 1 ที่ชายโครงด้านขวาจากทางด้านหลังจริง ในเรื่องการเล่นการพนันในงานศพพยานโจทก์คือนายสุชาติ นายสงวน และนายอนุสรณ์เบิกความรับว่ามีการเล่นการพนันในงานศพ อันเป็นการเจือสมกับคำของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ ในงานศพได้จัดให้มีการเล่นการพนันจริง ส่วนกรณีจำเลยที่ 1 ยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้านั้นพยานโจทก์คือ นายไชยชาติและนายอนุสรณ์เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้าก่อน 1 นัด อันเป็นการเจือสมกับคำของจำเลยที่ 1 ที่ว่ายิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด เนื่องจากกลัวว่าญาติของนายสุชาติจะมาทำร้าย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าก่อน 1 นัดจริง ปัญหาว่านายอาจิมต์ได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำพยานโจทก์บางปากดังกล่าวเบิกความปิดบังข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญบางประการดังกล่าวมาแล้วจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า นายอาจิมต์ไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 แต่กลับได้ความจากคำของนายอนุสรณ์พยานโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด นายอาจิมต์ชักอาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 แต่ไม่ถูก จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงนายอาจิมต์แต่กระสุนปืนไม่ลั่น นายอาจิมต์วิ่งหนีไป จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามไปคนละทางแล้วพบกันจึงต่างยิงปืนใส่กัน คำของนายอนุสรณ์เจือสมกับคำของจำเลยที่ 1 ยิ่งกว่านั้นตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์ ซึ่งให้การในวันรุ่งขึ้นก็ระบุว่านายอาจิมต์ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัดแล้วนายอาจิมต์ได้ชักอาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนจริง พฤติการณ์ของนายอาจิมต์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เห็นว่านายอาจิมต์ได้ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแก่ตน ดังนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิป้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่นายอาจิมต์ 1 นัดในทันทีทันใด แม้กระสุนจะลั่นหรือไม่ก็ตามย่อมถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงนายอาจิมต์ แต่กระสุนปืนไม่ลั่นแล้ว นายอาจิมต์ได้วิ่งหลบหนีไป เช่นนี้เหตุที่จำเลยที่ 1 จะป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไป การที่จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามนายอาจิมต์ไปแล้วยิงต่อสู้กับนายอาจิมต์อีกเช่นนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการที่นายอาจิมต์ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนอันถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งหลังจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ แต่เมื่อทางพิจารณาปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 จะได้รับการลดหย่อนโทษ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตำหนิว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุในเรื่องที่ห้ามเล่นการพนันส่งเสียงดังจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างเหตุป้องกันนั้น เห็นว่า เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการที่ถูกนายสุชาติแทงและถูกนายอาจิมต์ใช้อาวุธปืนยิง จำเลยที่ 1 ย่อมอ้างเหตุป้องกันหรือบันดาลโทสะได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้าก็เนื่องจากเกรงว่าญาติของนายสุชาติจะทำร้ายก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุเช่นกัน เพราะก็ปรากฏว่านายอาจิมต์ซึ่งเป็นพี่ชายของนายสุชาติได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ด้วย อันเป็นข้อสนับสนุนคำของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเกรงญาติของนายสุชาติจะทำร้าย ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับสิบตำรวจโทณรงค์นั้น โจทก์มีพยาน 2 ปากที่เบิกความว่าสิบตำรวจโทณรงค์จะจับจำเลยที่ 1 จึงถูกจำเลยที่ 1 ยิงคือสิบตำรวจโทณรงค์และนายไชยชาติ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า สิบตำรวจโทณรงค์และนายไชยชาติเบิกความปิดบังข้อเท็จจริงเหตุการณ์เรื่องเล่นการพนันในงานศพและเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถูกแทง ทั้งปรากฏว่าสิบตำรวจโทณรงค์เป็นเพื่อนกับนายอาจิมต์ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก่อนเช่นกันและมางานศพเป็นส่วนตัวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบ และบิดาของนายไชยชาติเป็นพี่ชายบิดาของนายอาจิมต์ คำของสิบตำรวจโทณรงค์และนายไชยชาติจึงมีเหตุสงสัยจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าสิบตำรวจโทณรงค์จะตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุดยิงอันเป็นการสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์ก็ตาม แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับนายอาจิมต์โดยบันดาลโทสะดังวินิจฉัยมาแล้วประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน ครั้นเมื่อจำเลยที่ 1 เห็นสิบตำรวจโทณรงค์มีและใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่าสิบตำรวจโทณรงค์เป็นพวกนายอาจิมต์และได้ช่วยเหลือนายอาจิมต์ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับสิบตำรวจโทณรงค์อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดกันกับการยิงนายอาจิมต์โดยบันดาลโทสะเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้หยิบยกเรื่องยิงสิบตำรวจโทณรงค์โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามบทกฎหมายข้างต้น และที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษฐานมีและพาอาวุธปืนนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษฐานมีและพาอาวุธปืนหนักเกินไป เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนายอนุสรณ์ เบิกความยืนยันว่า ขณะที่พยานนำจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายสงวน ขับเพื่อพาไปโรงพยาบาลเห็นจำเลยที่ 2 มาขวางหน้ารถจักรยานยนต์และใช้อาวุธปืนยิงมาทางรถจักรยานยนต์ อันเป็นการสอดคล้องกับคำของนายสงวนที่เบิกความว่า ขณะขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 เพื่อจะไปโรงพยาบาลมีชาวบ้านตะโกนให้ระวังคนยิง พยานตกใจกลัวจึงล้มรถจักรยานยนต์ลงแล้ววิ่งหลบหนี ใครจะจ้องปืนยิงพยานไม่เห็น ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า หลังจากรถจักรยานยนต์ล้ม มีเสียงปืนดัง 1 นัด นอกจากนี้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์ก็ระบุว่าให้การในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุโดยให้การว่าเห็นจำเลยที่ 2 มายืนขวางและชักอาวุธปืนยิง 3 นัด นัดแรกไม่ถูก นัดที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เพราะเห็นจำเลยที่ 1 มีอาการสะดุ้ง นายอนุสรณ์รู้จักจำเลยที่ 2 มา 2 ปีก่อนเกิดเหตุเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นคู่เขยกับนายอาจิมต์ บริเวณเกิดเหตุอยู่ในเต็นท์ที่ตั้งในงานศพมีแสงไฟฟ้าสว่าง หลังเกิดเหตุให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นทันที คำของนายอนุสรณ์มีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กลับจากงานศพแล้วมาพักบ้านแม่ยาย เห็นมีนายอาจิมต์วิ่งมาบอกว่า จำเลยที่ 1 ยิง ก็คงมีจำเลยที่ 2 เพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ นายอาจิมต์พยานโจทก์ก็มิได้เบิกความว่าได้ไปบ้านแม่ยายและพบจำเลยที่ 2 แต่ประการใด พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าจำเลยที่ 1 จริงตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา สำหรับข้อหาฐานมีและพาอาวุธปืนนั้น โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงมาเป็นของกลาง โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 โดยมิได้นำสืบว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ว่า อาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุได้มางานศพจริง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนก็ให้การรับว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามฆ่านายอาจิมต์ และสิบตำรวจโทณรงค์ โดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และ 288 ประกอบมาตรา 72 กับมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นโดยไม่รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะรวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีและพาอาวุธปืนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานมีอาวุธปืน 3 เดือน ฐานพาอาวุธปืน 1 เดือน 15 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 4 เดือน 15 วัน จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และ 288 กับมีความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 1 จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 2 เดือน ริบลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง คืนอาวุธปืนหมายเลขทะเบียน กท 39133295 แก่เจ้าของคำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share