แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์มากับจำเลยที่ 1 และได้รู้เห็นจำเลยที่ 3 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 มัด ให้แก่สายลับภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 4 มัด แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสรู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับสายลับ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากพบเงินจำนวน 50,000 บาท ที่สายลับใช้ล่อซื้อแล้วยังพบเงินอีก 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าเมทแอมเฟตามีนอยู่ในช่องเก็บของข้างที่นั่งคนขับ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด รวม 2,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนที่จะซื้อเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังจะส่งมอบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 พยายามมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องด้วยข้อสันนิษฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และบวกโทษจำเลยที่ 4 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1395/2544 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินว่า จำเลยทั้งสี่ได้ใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฉ – 4140 กรุงเทพมหานคร เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดรับและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ลูกค้า โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 4 เครื่อง และเงินสดจำนวน 20,000 บาท ของกลางเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อติดต่อซื้อขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น 2 วัน ติดต่อกันแล้ว ไม่มีผู้คัดค้าน
โจทก์ขอรวมการสืบพยานและไต่สวนคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ และจำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละตลอดชีวิต เมื่อศาลจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจรวมโทษทั้งสองฐานเข้าด้วยกันได้ และไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ได้อีก คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 4 ในชั้นจับกุมว่าเป็นผู้ดูแลรักษาเมทแอมเฟตามีน และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกคนละ 50 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 33 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1395/2544 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 33 ปี 10 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฉ – 4140 กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 0 9746 3085, 0 9991 5133, 0 1361 0665, 0 1791 3197 และเงินสดจำนวน 20,000 บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 ปี 2 เดือน 20 วัน จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่กระทงเดียวจำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1395/2544 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 33 ปี 10 เดือน คำขอของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์มากับจำเลยที่ 1 และได้รู้เห็นจำเลยที่ 3 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 มัด ให้ลูกน้องของสายลับภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 4 มัด แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสรู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับสายลับ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่ามิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20,000 เม็ด ไว้ในครอบครอบเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 6,000 เม็ด โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้มาติดต่อขอรับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด เป็นจำนวน 2,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเพื่อนของจำเลยที่ 2 สั่งซื้อไว้ ในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็ให้การมีข้อเท็จจริงเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นตามบันทึกการจับกุมและคำให้การของผู้ต้องหา เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากพบเงินจำนวน 50,000 บาท ที่สายลับใช้ล่อซื้อแล้วยังพบเงินอีก 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าเมทแอมเฟตามีนอยู่ในช่องเก็บของข้างที่นั่งคนขับด้วย จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด รวม 2,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนที่จะซื้อเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังจะส่งมอบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 พยายามมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้มากกว่ายี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 4 พันตำรวจโทปรีดาและสิบตำรวจเอกพิชัยต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองกับพวกควบคุมจำเลยที่ 3 ไปที่บ้านเช่าของจำเลยที่ 3 เพื่อตรวจค้นเมทแอมเฟตามีนที่เหลือและเมื่อไปถึงพบจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 สอบถามจำเลยที่ 4 ว่าของเก็บไว้อยู่ที่ไหน จำเลยที่ 4 ชี้ไปที่กระเป๋าผ้าข้างฝาห้อง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจกระเป๋าดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกจำนวน 6 มัด รวม 12,000 เม็ด เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปถึงบ้านเช่าของจำเลยที่ 3 พบจำเลยที่ 4 อยู่ภายในห้องนอนจึงใช้บุคคลทั้งสองนำตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 6 มัด อยู่ในกระเป๋าหิ้วแขวนไว้บริเวณฝาห้องนอนของจำเลยที่ 3 เห็นได้ว่า ในบันทึกการจับกุมมิได้ระบุถึงคำถามของจำเลยที่ 3 และการตอบคำถามของจำเลยที่ 4 โดยชี้ไปที่ถุงผ้าซึ่งแขวนไว้ที่ผนังห้องดังที่พยานทั้งสองเบิกความ ทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 พยานหลักฐานโจทก์จึงขัดแย้งกันเอง บ้านเกิดเหตุเป็นบ้านที่จำเลยที่ 3 เช่าอยู่อาศัย ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมทแอมเฟตามีนจำนวน 12,000 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงผ้าแขวนไว้ที่ฝาห้องนอนของจำเลยที่ 3 บุคคลอื่นไม่อาจทราบได้ว่าถุงผ้าดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในนั้น จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสายลับ ส่วนที่ในบันทึกการจับกุมระบุว่า จำเลยที่ 4 ให้การเพิ่มเติมหลังจากให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 4 พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพี่สาว และเห็นจำเลยที่ 3 แบ่งเมทแอมเฟตามีนบนพื้นภายในห้องนอนเพื่อนำไปส่งให้แก่ผู้ซื้อ และจำเลยที่ 3 บอกให้จำเลยที่ 4 ดูแลรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้ จำเลยที่ 4 จึงนำเมทแอมเฟตามีนใส่กระเป๋าหิ้วไปแขวนที่ฝาบ้านนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำความผิดตามที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 4 จะให้การเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้จึงมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย ทั้งจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง