แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถูกกระชากกระเป๋าจนสายสะพายหลุดจากไหล่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ล้มและศีรษะผู้เสียหายกระแทกพื้นถนนสลบไป ส่วนกระเป๋าหลุดติดมือ ว. ไปหล่นบนถนนห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 เมตร แสดงว่า ว. กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายหลุดจากตัวผู้เสียหายมาอยู่ในความครอบครองของ ว. แล้ว แต่เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่ง ว. นั่งซ้อนท้ายมาเสียหลักล้มลงด้วยจนกระเป๋าของผู้เสียหายหล่นลงไปที่พื้นถนนห่างจากจุดเดิมถึง 5 เมตร จึงต้องถือว่าการวิ่งราวทรัพย์เอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงขั้นพยายามวิ่งราวทรัพย์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336, 336 ทวิ, 83 และ 92 กับเพิ่มโทษและนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 3693/2548 ของศาลอาญาธนบุรี และคดีหมายเลขแดงที่ 4188/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ลงโทษจำคุก 6 ปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 4188/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้และคดีหมายเลขแดงที่ 3693/2548 ของศาลอาญาธนบุรี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 80, 336 ทวิ, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะนางสาวนพเกล้า ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีนายธนูเป็นผู้ขับขี่จอดรอสัญญาณไฟจราจรอยู่ที่บริเวณสี่แยกป้อมมหากาฬที่เกิดเหตุ เมื่อได้รับสัญญาณไฟจราจรให้รถไปได้ ขณะนายธนูกำลังจะแล่นออกไป จำเลยขับรถจักรยานยนต์มีพวกจำเลย 1 คน นั่งซ้อนท้ายไปในทิศทางเดียวกันวิ่งเข้ามาใกล้รถจักรยานยนต์คันที่นายธนูขับขี่ แล้วพวกจำเลยได้กระชากกระเป๋าของผู้เสียหายที่สะพายอยู่ที่ไหล่หลุดออกจากไหล่ ผู้เสียหายได้เอี้ยวตัวหลบและยึดลำตัวนายธนูคนขับขี่ไว้ไม่ให้ตกจากรถเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายเสียการทรงตัวไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลย และรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันล้มลงจนศีรษะผู้เสียหายกระแทกพื้นถนนหมดสติไปและกระเป๋าผู้เสียหายหล่นลงบริเวณกลางถนนห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 เมตร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมวิ่งราวทรัพย์กระเป๋าของผู้เสียหายเป็นความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่ เห็นว่า นายวิทยากระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปพร้อมกับลากตัวผู้เสียหายไป และกระเป๋าได้หล่นลงบริเวณกลางถนนห่างจากจุดเฉี่ยวชนเดิม 5 เมตร แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระเป๋าผู้เสียหายอยู่ในครอบครองของนายวิทยาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตามเหตุผลผู้เสียหายเป็นผู้หญิงนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อเวสป้า ลักษณะฝาครอบล้อหลังกว้างใหญ่ ผู้เสียหายคงไม่นั่งคร่อมซ้อนท้ายและสะพายกระเป๋าที่ไหล่ขวา เชื่อว่าผู้เสียหายคงนั่งห้อยขาทั้งสองข้าง ทางด้านซ้ายของที่นั่งโดยคล้องสายสะพายกระเป๋าไว้ที่ไหล่และสอดแขนขวารัดสายกระเป๋าไว้ เมื่อผู้เสียหายถูกกระชากกระเป๋าจนสายสะพายหลุดจากไหล่ผู้เสียหาย แต่สายสะพายกระเป๋าย่อมต้องติดอยู่ที่แขนขวาของผู้เสียหาย เพราะสายสะพายกระเป๋าติดที่แขนผู้เสียหายนั่นเองเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ล้ม ศีรษะผู้เสียหายกระแทกพื้นถนนสลบไป และกระเป๋าหลุดติดมือนายวิทยาไปจนกระเป๋าหล่นไปบนถนนห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 เมตร แสดงว่านายวิทยากระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายหลุดจากตัวผู้เสียหายมาอยู่ในความครอบครองนายวิทยาแล้ว แต่เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของจำเลยได้เสียหลักล้มลงด้วยจนกระเป๋าของผู้เสียหายหล่นลงไปที่พื้นถนนห่างจากจุดเดิมถึง 5 เมตร จึงต้องถือว่าการวิ่งราวทรัพย์เอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปจากความครอบครองผู้เสียหายเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นเพียงขั้นพยายามวิ่งราวทรัพย์กระเป๋าสะพายของผู้เสียหายมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด อันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์