คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 6 บัญญัติเป็นนัยว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ จึงมีผลให้ข้อตกลงในสัญญากู้ ข้อ 1 ที่ว่า “ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้” เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 654
เมื่อปรากฏรายละเอียดตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยครั้งแรกเพียงร้อยละ 4.75 ต่อปี แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงบ่งชี้ว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์โดยได้รับสิทธิเงินกู้สวัสดิการตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์กลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ถึงร้อยละ 19 ซึ่งแม้ไม่เป็นโมฆะ แต่ก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลย คงบังคับกันได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามที่กำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี
จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี การที่โจทก์ปรับใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงได้ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 424,447.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 281,694.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2540 ให้แก่จำเลยด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 291,503.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 281,694.24 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 30205 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแทน ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบถ้วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรมบวก 2 ต่อปี ของต้นเงิน 281,694.24 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ส่วนจำเลยเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้รับสิทธิจากสวัสดิการในการกู้ยืมเงินจากโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม โดยขณะที่จำเลยยื่นคำขอกู้ยืมเงินไปยังสำนักงานใหญ่ของโจทก์ โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยจากข้าราชการกระทรวงยุติธรรมในอัตราร้อยละ 4.75 ต่อปี จำเลยได้ทำสัญญากู้และรับเงินจากโจทก์ 376,000 บาท ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,700 บาท ภายในระยะเวลา 20 ปี หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด และยอมให้โจทก์เรียกต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที ถ้าจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 1 ปี ยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินและเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันแก่โจทก์ด้วย จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30205 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา นับถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2540 จำเลยค้างชำระต้นเงิน 281,694.24 บาท และดอกเบี้ย 9,809.39 บาท และโดยที่พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 6 บัญญัติเป็นนัยว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ จึงมีผลให้ข้อตกลงในสัญญากู้ ข้อ 1 ที่ว่า “ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้” เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด เบื้องแรกโจทก์ฎีกาโต้แย้งขึ้นมาเรื่องการตีความสัญญา จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่ปัญหาข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอ้างเถียงในคำแก้ฎีกา และในปัญหาดังกล่าว เมื่อปรากฏรายละเอียดตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยครั้งแรกเพียงร้อยละ 4.75 ต่อปี แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงบ่งชี้ว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์โดยได้รับสิทธิเงินกู้สวัสดิการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์กลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งแม้ไม่โมฆะดังกล่าว ก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลย คงบังคับแก่กันได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามที่กำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่โจทก์ฎีกาโต้เถียง
คดีได้ความต่อไปว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยก็มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี เพื่อเรียกเอาจากจำเลยดังที่อ้างมาในฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปรับใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ ข้อ 3. ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงได้ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 มิใช่อัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเพียงข้อผ่อนผันในการคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลย เมื่อจำเลยผิดนัดข้อผ่อนผันจึงตกไปต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญาตามที่โจทก์อ้างในฎีกา และที่ศาลอุทธรณ์เห็นควรลดลงคงเหลือเพียงอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรมบวก 2 ต่อปี ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นจำนวนค่าปรับพอสมควรแล้วมิได้ต่ำเกินไป เพราะการให้กู้ยืมตามสิทธิสวัสดิการสืบเนื่องมาจากกระทรวงยุติธรรมต้นสังกัดของจำเลยผู้กู้นั้นได้นำเงินมาฝากออมทรัพย์ไว้กับโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 เท่า ของจำนวนเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระ อีกทั้งหากจำนวนเงินที่กระทรวงยุติธรรมนำมาฝากเพิ่มขึ้นเกินกว่า 4 เท่า ของวงเงินกู้ โจทก์ก็ยินยอมให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจากช่วงห่างร้อยละ 4 ด้วยซ้ำ อันเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์หาประโยชน์อย่างจำกัด โดยมีส่วนลดจากดอกเบี้ยอัตราที่เรียกเอาจากลูกค้าทั่วไป แลกเปลี่ยนกับจำนวนเงินฝากที่ได้มาจากกระทรวงยุติธรรมตามข้อตกลง ดังนั้น จึงไม่จำต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 บัญญัติไว้ เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการลดค่าปรับแก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลย 3,000 บาท

Share